‘นักวิชาการ’ ชี้ ‘นำเข้าหมู’ ทำลายโอกาสเกษตรกรรายย่อยที่ยังเหลืออยู่

 

‘นักวิชาการ’ ชี้ ‘นำเข้าหมู’ ทำลายโอกาสเกษตรกรรายย่อยที่ยังเหลืออยู่

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนบทความเรื่อง “นำเข้าหมู ทำลายโอกาสของเกษตรกรรายย่อยที่ยังเหลืออยู่” โดยมีรายละเอียดว่า

ราคาเนื้อหมูทะยานขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะหมูตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) อย่างที่ทุกท่านทราบ วิกฤตนี้ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยขาดทุนและเลิกกิจการจนราคาเนื้อหมูแพงขนาดนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรรายย่อยต่อเศรษฐกิจไทย

แม้เกษตรกรรายย่อยจะเลิกการเลี้ยงไปมากแต่ก็ยังเหลืออีกเกือบครึ่งที่ฟาร์มยังไม่ติดโรคและยังเลี้ยงได้อยู่ ราคาเนื้อหมูที่แพงจึงเป็น “โอกาสอันดี” ของเกษตรกรเหล่านี้ที่จะนำกำไรไปปรับปรุงและพัฒนาระบบการเลี้ยงเพื่อป้องกันการระบาดของโรคให้ทันเวลา

Advertisement

การประกาศเรื่องการระบาดของโรค ASF อย่างเป็นทางการ ทำให้ภาครัฐต้องตรวจเชิงรุกอย่างเข้มงวด หากพบสัตว์ป่วยต้องทำลายทั้งฟาร์ม ผมไม่ได้เป็นห่วงบริษัทใหญ่ว่าจะติดเชื้อหรือควบคุมโรคไม่ได้เพราะเขามีระบบการป้องกันและทรัพยากรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี วิชาการ คน และเงินครบถ้วน

แต่ผมเป็นห่วงเกษตรกรรายย่อยที่เหลือต่างหาก อย่าลืมว่าโรคนี้ยังไม่มี “วัคซีนป้องกัน” หากหมูของเกษตรกรรายใดติดเชื้อก็ต้องทำลาย และจะกลับมาเลี้ยงใหม่ไม่ได้อีก หากฟาร์มไม่ถูกพัฒนาเข้าสู่ระบบที่ดีพอ ทำอย่างไรฟาร์มจะไม่ติดเชื้อ? ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อแล้วจะกลับมาเลี้ยงใหม่ได้? การพัฒนาระบบการเลี้ยงที่ดีเท่านั้นคือคำตอบ!!

หมูตายเพราะติดเชื้อที่ไม่มีวัคซีนป้องกัน แม้ภาครัฐจะตรวจและควบคุมอย่างเข้มงวด หากเกษตรกรไม่สามารถเปลี่ยนระบบการเลี้ยงได้ทันก่อนเชื้อโรคเข้าฟาร์ม (ต้องใช้เงินทุน) ก็คาดการณ์ได้ว่าหมูของเกษตรกรรายนั้นจะป่วยไม่ช้าก็เร็ว และต้องเลิกกิจการไปในที่สุด เหลือไว้แต่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการป้องกันโรคเท่านั้น

Advertisement

ความเป็นจริง การเลี้ยงสัตว์ที่ดีต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก วิธีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้สู่เกษตรรายย่อยที่เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดคือการถ่ายทอดและการช่วยเหลือจากเอกชนรายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลักษณะเช่นนี้ไม่น้อย โดยจะเห็นได้จากการที่ภาคเอกชนได้ระดมทุนกันกว่า 200 ล้าน เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรค ดังนั้น รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการเป็นพันธมิตรและส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่กับรายย่อยให้มากขึ้นอีก เพื่อความยั่งยืนต่อไป

การ “นำเข้าเนื้อหมู” จากต่างประเทศอาจทำให้ราคาหมูในประเทศถูกลงก็จริง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ “เกษตรกรรายย่อยที่รอดจะขายหมูไม่ได้ และจะไม่มีเงินมากพอที่จะนำไปใช้ปรับปรุงระบบการเลี้ยง” สุดท้ายก็คงรอการเข้าโจมตีของโรคและยุติอาชีพในที่สุด ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเขาเลย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีขาดทุนสะสมจากราคาหมูตกต่ำมาตลอด

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ด้วยเทคโนโลยี วิชาการที่ทันสมัย การเงิน และไม่ทำลายโอกาสของเกษตรรายย่อย ด้วยการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศอย่างไม่ระวัง เราต้องปกป้องเกษตรกรที่เหลืออยู่ ให้สามารถเลี้ยงหมูต่อไปได้ด้วยระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย ซึ่งจะสร้างสมดุลของการผลิตหมูอย่างยั่งยืน รวมทั้งต้องสนับสนุนให้บริษัทเอกชนส่งออกหมูและเนื้อหมูไปต่างประเทศ เพราะมีศักยภาพในการแข่งขัน สร้างรายได้เข้าประเทศได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเกษตรกรรายย่อยให้เข้มแข็ง เพื่อผลิตหมูคุณภาพดีและปลอดภัยให้กับคนไทยในประเทศต่อไป

สุดท้ายผมมีข้อแนะนำง่ายๆ สำหรับผู้ที่ยังเลี้ยงหมูในสภาวะการระบาดของโรค ASF นอกจากการทำ biosecurity ดังนี้ 1) ลดความหนาแน่นในการเลี้ยงลง 2) ให้อาหารน้อยลง 2-3% จากที่เคยให้ แบ่งอาหารให้กินเป็นมื้อๆ มากขึ้น (ให้กินน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง) 3) ให้อาหารที่ย่อยและดูดซึมได้ดี ไม่ควรให้อาหารโปรตีนสูงจนเกินไป 4) ใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เป็นไปตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ 5) ใช้อาหารสารเสริมที่ช่วยต้านการอักเสบ และ 5) ดูแลความสะอาดของฟาร์มและการเข้าออกให้มากที่สุด

ผมหวังว่าจะเห็นเกษตรกรรายย่อยเติบโตไปกับภาคเอกชนรายใหญ่ เพื่อพัฒนาเศรษจกิจของประเทศที่ยั่งยืนตลอดไปครับ

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image