‘สรรพสามิต’ จับมือ ‘โตโยต้า’ ร่วมแพคเกจอีวี ลดสูงสุด 3 แสนบาท

แฟ้มภาพ

‘สรรพสามิต’ จับมือ ‘โตโยต้า’ ร่วมแพคเกจอีวี ลดสูงสุด 3 แสนบาท เผยยอดจองอีวี มอเตอร์โชว์ กว่า 5 พันคัน สัปดาห์หน้าต่อคิวอีก 2 ค่ายไทยผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่กรมสรรพสามิต นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของรัฐบาลว่า การลงนามในครั้งนี้ทางบริษัท โตโยต้า มีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น bZ4X ที่ได้รับสิทธิการสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม จับต้องได้ และสนใจเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น โดยใช้มาตรการของรัฐในการลดอัตราภาษี และให้เงินอุดหนุน นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมสถานีชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี และอัตราค่าใช้ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์อีวี เป็นต้น

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนการใช้รถยนต์อีวีในประเทศนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางสนับสนุนที่ครบวงจร อาทิ เรื่องอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยมาตรการทางภาษีและเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้รถอีวีในประเทศนั้น มีอายุ 4 ปี ตั้งแต่ 2565-2568 ทำให้ราคารถอีวีลดลงสูงสุดถึง 3 แสนบาทต่อคัน

นายลวรณกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตเพื่อร่วมมาตรการอีวีแล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้าจากเกรท วอลล์ รุ่นโอร่า กู๊ดแคท และเอ็มจี รุ่น เอ็มจี อีพี และเอ็มจี แซดเอส

Advertisement

นายลวรณกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการ มียอดจองกว่า 600 คัน ประกอบด้วย วอลโว่ มียอดจองจำนวน 385 คัน บีเอ็มดับเบิลยู มียอดจองจำนวน 112 คัน มินิ มียอดจองจำนวน 58 คัน พอร์เชอ มียอดจองจำนวน 58 คัน นิสสัน มียอดจองจำนวน 19 คัน อาวดี้ มียอดจองจำนวน 10 คัน และ ทากาโน่ มียอดจองจำนวน 6 คัน

“ยอดสถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการได้ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามแนวทางที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ไร้มลพิษ หรือ ZEV โดยเฉพาะเป้าหมายการผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะในปี 2573 คิดเป็น 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ” นายลวรณกล่าว

นายลวรณกล่าวว่า คาดว่าภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามกับค่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอีก 2 แห่ง คือ เดมโปกรีน และ เอดิสัน ซึ่งเป็นค่ายรถของคนไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image