ดัชนีเอสเอ็มอี ไตรมาส 4/59 ทรงตัว ธุรกิจส่วนใหญ่ลุ้นครึ่งหลังปี 60 เศรษฐกิจฟื้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ประจำไตรมาสที่ 4/2559 สำรวจเมื่อวันที่ 19-30 ธันวาคม 2559 จำนวน 1,268 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาสที่ 4/2559 เท่ากับ 48.4 อยู่ในระดับเดียวกับไตรมาส 3/2559 คาดว่าจะปรับเพิ่มเป็น 48.6 และ 49.1 ในไตรมาส 1/2560 และ 2/2560 ตามลำดับ ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนเอสเอ็มอีมองสถานการณ์ยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สภาพคล่องที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่จะดีขึ้นในปี 2560 หากเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งการส่งออก เศรษฐกิจโลก และไม่มีภัยพิบัติ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 4/2559 แยกดูเป็นรายดัชนี พบว่า ดัชนีสุขภาพของธุรกิจ เท่ากับ 42.1 ลดลงจากไตรมาส 3/2559 ที่เท่ากับ 42.4 เพราะมีสภาพคล่องลดลง ยอดขายและกำไรไม่เพิ่มขึ้น ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ เท่ากับ 51.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2559 ที่เท่ากับ 51.1 สะท้อนการแข่งขันทำธุรกิจกับรายอื่นและต่างชาติอยู่ในระดับทรงตัว และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ เท่ากับ 51.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2559 ที่เท่ากับ 51.6 เพราะยังมีการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจทั้งการตลาด วิจัย และไอที

“คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของเอสเอ็มอี ปี 2559 อยู่ที่ 3.7% หากจีดีพีประเทศขยายตัว 3.2% ส่วนในปี 2560 จะอยู่ที่ 4.2% หากจีดีพีประเทศขยายตัว 3.6% จากปัจจัยบวกการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งหากรัฐลงทุนเป็นรูปธรรมจะดึงเอกชนลงทุนตาม ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ผลต่อเนื่องจากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) การปรับเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หนี้ครัวเรือนยังสูง เป็นต้น”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในไตรมาส 4/2559 เอสเอ็มอีระบุว่าธุรกิจฟื้นตัวแล้ว 44.1% และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว 33% โดยคาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้ประมาณไตรมาส 1-3 ของปี 2560 รวมกว่า 75% โดยธุรกิจส่วนใหญ่มองฟื้นตัวในครึ่งหลังปี 2560 สอดคล้องกับภาคธุรกิจที่กว่า 48.2% จะเริ่มลงทุนอีกครั้งในไตรมาสที่ 2/2560 ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนซื้อวัตถุดิบ จ้างงาน และซ่อมแซมเครื่องจักร ขณะที่มองแนวโน้มยอดขายหรือรายได้ปี 2560 เทียบปี 2559 เอสเอ็มอีมองได้ใกล้เคียงกัน 51% ต่ำกว่า 29.2% สูงกว่า 10.5% อย่างไรก็ตามยังตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย11.6% ส่วนปี 2559 เอสเอ็มอี 53.5% ตอบว่ายอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

Advertisement

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการประเมินสถานภาพธุรกิจไทย โอกาส และความเสี่ยง สำรวจช่วงวันที่ 4-9 มกราคม 2560 จำนวน 600 ตัวอย่างว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจตลอดปี 2559 อยู่ที่ 93.6 ส่วนปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 106.4 เพราะปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจดีขึ้น เช่น ภาวะเศรษฐกิจ นโยบายต่างๆของรัฐ กฎหมาย การวิจัย ทักษะแรงงาน เป็นต้น สำหรับทั้งปี 2559 เทียบปี 2558 ธุรกิจส่วนใหญ่ตอบว่าต้นทุนยอดขาย กำไร การจ้างงาน ค่าจ้างไม่เปลี่ยนแปลงนัก และการสต็อกสินค้าส่วนใหญ่สต็อกเพิ่มรับปี 2560 ส่วนปี 2560 เทียบปี 2559 ธุรกิจส่วนใหญ่มองค่าจ้างไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้นทุนอาจเพิ่มบ้างเมื่อราคาน้ำมัน วัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่วนยอดขายและกำไรจะเพิ่มบ้างตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image