นายแบงก์หวั่นนายกฯใหม่มาช้า เสี่ยงงบประมาณประจำปีไม่ทันกำหนด 1 ต.ค. แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่นทุนต่างชาติ
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน หลุดจากการเป็นนายกรัฐมนตรี คาดหวังว่าการเข้ามาของนายกฯคนใหม่ จะมีคุณสมบัติเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ สามารทำงานบริหารได้ทันที ที่สำคัญจะต้องมีทีมงานสนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
เพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างเต็มที่ โดยประเมินว่าภาพคงไม่ซ้ำรอยเหมือนช่วงการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด ที่ส่งผลกระทบให้งบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้า กระทบกับด้านการลงทุนภาครัฐ ที่ไม่สามารถหยิบมาใช้จ่ายได้ ลดทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ซึมตัวมาตลอด หากงบประมาณล่าช้าอีกครั้งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
นายอมรเทพกล่าวว่า ความกังวลในเรื่องนโยบาย และความล่าช้าในการจัดตั้งงบประมาณประจำปี เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ทันกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยหากมีนายกฯเข้ามานั่งตำแหน่งบริหารได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่สัปดาห์จากนี้ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสร็จช่วงเดือนกันยายนนี้ กระทบกับงบประมาณที่อาจล่าช้าออกไปประมาณ 1 เดือน ในเวลาประมาณนี้ถือว่าผลกระทบไม่ได้มีมากนัก ซึ่งก็หวังว่า ครม.ชุดใหม่จะเร่งนำงบประมาณปี 2567 ที่ค้างท่ออยู่ เร่งเบิกจ่ายและใช้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ล่าช้านำออกมาชดเชยผ่านมาตรการต่างๆ ในภายหลักเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ โดยที่ไม่เกิดการสะดุดขึ้น หากเป็นแบบนี้ ไม่เกิดรอยต่อระหว่างรัฐบาลมากนัก ยังไม่ถึงขั้นต้องปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567
นายอมรเทพกล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในรัฐบาลชุดใหม่คือ 1.เศรษฐกิจไทยถูกผลกระทบในฐานราก โตเพียงระดับกลางถึงบน ในภาคการท่องเที่ยวหรือส่งออกเท่านั้น แต่กลุ่มเกษตรกรและเมืองอื่นนอกเหนือเมืองท่องเที่ยวหลักยังมีความอ่อนแอ จึงอยากเห็นมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อออกมา อาทิ การแจกเงินผ่านช่องทางอื่น หรือการลดค่าครองชีพ ไม่ใช่รอเพียงดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้นหากยังเดินหน้าต่อ
2.การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ ต่อเนื่องจากที่นายเศรษฐาเดินทางไปสร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ จึงไม่อยากเห็นสิ่งที่ทำไว้แล้วต้องเสียของไป และต้องเร่งในจุดนี้ เพื่อไม่ให้ต่างชาติรอนานเกินไป หรือย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน
นายอมรเทพกล่าวต่อว่า 3.ตลาดทุนไทย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ถูกกระทบ รัฐบาลต้องหามาตรการดูแลตลาดทุนให้มีความน่าเชื่อถือ รองรับการลงทุนของทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ได้ เพราะมองภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วก็ต้องอาศัยตลาดทุนในการขับเคลื่อนด้วย
และ 4.การเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ปัญหาสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยอยากเห็นมาตรการด้านการคลัง ที่อาศัยแบงก์รัฐในการช่วยดูแลสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีและผู้มีรายได้น้อย โดยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นมาตรการควิกวินให้รัฐบาลชุดใหม่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการขนาดใหญ่อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้ในช่วงที่มีความเปราะบางแบบนี้