ผู้เขียน | สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ |
---|
ดุลยภาพดุลพินิจ : อุตสาหกรรมพีซีบี
กับโอกาสของแรงงานอุดมศึกษา
ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีข่าวค่อนข้างดีเล็กๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนอุตสาหกรรมพีซีบี ที่อาจจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยเศรษฐกิจของไทยรวมทั้งอาจจะช่วยเยาวชนที่เพิ่งจบอุดมศึกษาแต่ยังว่างงานอยู่จำนวนมาก
ขอเริ่มจากข่าวที่เลขาธิการบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เผยว่า อุตสาหกรรมพีซีบี โตก้าวกระโดดโดยในช่วงเดือน ม.ค.66-มิ.ย.67 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพีซีบีสูงถึงกว่า 150,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น และมีการตั้งเป้าดันไทยเป็นฐานการผลิต 1 ใน 5 ของโลก โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต 2 เรื่องที่สำคัญ คือ บุคลากร และซัพพลายเชนในเรื่องบุคลากร
(พีซีบี คือ Printed Circuit Board: PCB หรือ แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ แผ่นพรินต์) ที่ถือเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ พีซีบีเป็นฐานในการประกอบและเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ บอร์ดประมวลผลในรถยนต์ (ECU: Electronic Control Unit) อุปกรณ์ทางการแพทย์ AI Server และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เป็นต้น พีซีบีเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งต้นน้ำ (การจัดหาวัตถุดิบ และวัสดุในการจัดทำแผงวงจร เช่น ผลิตภัณฑ์จากทองแดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขดลวดทองแดง แผ่นทองแดง และวัสดุห่อหุ้มด้วยทองแดง (Copper Laminated) รวมถึงวัสดุพื้นฐานอื่นๆ เป็นต้น) กลางน้ำ (เช่นการทำแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมสื่อสารเช่น เสาสัญญาณหรือสถานีฐาน อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์) และปลายน้ำ (เป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมสื่อสาร หรืออุตสาหกรรมที่ต้องการแผงวงจรเคลือบฉนวน และอุตสาหกรรมรถยนต์)
การแถลงข่าวของเลขาธิการบีโอไอสอดคล้องกับที่ รมต.แรงงานคุยว่าไทยต้องการแรงงานด้านดิจิทัลกว่า 1.4 แสนคนในปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย สู่การจ้างงานยุคดิจิทัล” ที่กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยต้องการกำลังแรงงานด้านดิจิทัลมากกว่า 140,000 คน มีผู้ประกอบการในสาขาดิจิทัลมากกว่า 13,000 ราย ที่ต้องการ เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาเอไอ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ผู้พัฒนาโปรแกรมเซมิคอนดักเตอร์ ไมโครชิป ออโตเมชั่น นักการตลาดดิจิทัล เป็นต้น”
ในเวลาต่อมาใกล้ๆ กัน ก็มีข่าวบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI เครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อธันวาคม 2566 บริษัทได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทจากไต้หวัน ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาผลิตและจำหน่ายพีซีบีขั้นสูงหลายชั้น (Multilayer PCB) โดยมีมูลค่าการลงทุนระยะแรกประมาณ 10,000 ล้านบาท และมากกว่า 50,000 ล้านบาทในปี 2573 โดยเครือสหพัฒน์ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 10% ส่วนอีก 90% เป็นการลงทุนของต่างชาติ ขณะนี้ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรีแล้ว เพื่อเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายแผงวงจรพิมพ์ ตั้งเป้าจะเปิดเฟสแรกภายในปี 2568
ยิ่งไปกว่านั้นคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและศึกษาอุตสาหกรรมพีซีบีพบว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าส่งเสริมและได้เสนอแนะพัฒนาอุตสาหกรรม พีซีบีในประเทศไทยให้ก้าวหน้าและแข่งขันในตลาดโลกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้สนับสนุนให้มีการพัฒนากำลังคนและการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารวมทั้งการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านนี้
ข่าวการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลดังกล่าว น่าจะเป็นที่ยินดีสำหรับแรงงานระดับอุดมศึกษาที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน (28 ส.ค.2567) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าตลาดแรงงานไทยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 430,000 คน ซึ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา (ไม่รวมประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) สูงสุดถึง 158,700 คน จากจำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยระหว่างปี 2560-2566 หรือประมาณ 302,360 คน โดยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ผลิต และก่อสร้าง ว่างงาน 18,300 คน และสาขาวิทยาศาสตร์ ว่างงาน 17,400 คน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงคือ ที่จริงแล้ว ยังมีปัญหาผู้สำเร็จอุดมศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาในวิชาที่เรียน รวมทั้งยังอาจมีปัญหาการขาดคุณลักษณะบางอย่างที่นายจ้างไม่ต้องการ เช่น ผู้เขียนเคยวิจัยพบว่าบริษัทต่างชาติบ่นว่าวิศวกรไทยมีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งก็นานมาแล้วปัจจุบันปัญหาดังกล่าวอาจจะหมดไปแล้ว และในอดีตราว 10 ปีมาแล้วสำนักสถิติแห่งชาติเคยร่วมมือกับกระทรวงแรงงานสำรวจความต้องการแรงงานและความขาดแคลนแรงงานในสาขาการศึกษาต่างๆ พบว่ามีความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการแรงงานและอุปทานแรงงานผู้มีการศึกษาปรากฏอยู่มาก ที่น่าสนใจคือ สถานประกอบการมีความขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นแต่กลับมีผู้ว่างงานในสาขาวิชาเดียวกันจำนวนมาก เช่น ในปี 2556 การสำรวจพบว่า สถานประกอบการต้องการแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ 10,740 คน โดยขาดแคลน (จากเป้าที่ต้องการ) 6,140 คน ในขณะที่ มีแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ว่างงาน 7,940 คน ขณะที่ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มีความต้องการ 6,200 คน ขาดแคลน 4,760 คน แต่ว่างงานอยู่ถึง 5,700 คน จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการผลิตบุคลากรควรนำไปพิจารณาหาสาเหตุและปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
อีกประเด็นหนึ่งที่ทราบมาจากพรรคพวกเพื่อนฝูงในมหาวิทยาลัย คือ ปัญหาการขาดผู้เรียนซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาเด็กเกิดน้อยในอดีต ทำให้มีจำนวนนักศึกษาสมัครเรียนต่ำกว่าเป้าหมายของแต่ละสถาบัน จึงอาจเกิดปัญหาการผลิตบุคลากรได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งปัญหานี้คงต้องไปแก้ที่อื่นหรือโดยหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเด็นของผลกระทบของอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อการจ้างงานโดยรวมเนื่องจากดิจิทัลเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ซึ่งเคยมีการพูดถึงที่เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วนั้น เป็นคนละประเด็นกันกับเรื่องกระแสการลงทุนในอุตสากรรมพีซีบีที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะเป็นเรื่องของกระแสอุตสาหกรรม 4.0 ที่ระบบเศรษฐกิจหันมาใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและหุ่นยนต์
แต่ก็อดกระซิบไม่ได้ว่า ผลกระทบของดิจิทัลเทคโนโลยีไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น เพราะแนวโน้มคนเกิดน้อยสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันทำให้เทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงเป็นสิ่งจำเป็น และการแก้ปัญหาผลกระทบของดิจิทัลเทคโนโลยีต่อความต้องการแรงงานสามารถทำได้โดยการปรับและ/หรือยกระดับทักษะ (Reskill และ Upskill) แรงงานที่ถูกทดแทนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี รวมทั้งดิจิทัลเทคโนโลยีก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (คือรัฐบาลนั่นแหละครับ) จะต้องทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาแรงงานที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโดยการให้ความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม รวดเร็วและทั่วถึง