ผู้เขียน | สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) |
---|
“น้ำ” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงหน้ามรสุมทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจ ต่างได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
สำหรับประเทศไทย ในเวลานี้ต้องเร่งแก้ไขเรื่องน้ำและวางยุทธศาตร์ระยะยาว “การบริหารจัดการระบบทรัพยากรน้ำ” เพราะทุกปีประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะน้ำที่ไม่มีความพอดีทั้ง “น้ำน้อย” จนเกิดภาวะภัยแล้ง และอีกหนึ่งก็คือ “น้ำมาก” จนเกิดเป็นน้ำท่วม
ไม่ว่าสถานการณ์น้ำจะมาในรูปแบบใด ก็ส่งผล กระทบไม่มากก็น้อยต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ ไม่เพียงแต่ภาคเกษตร ภาคธุรกิจ ซึ่งถูกกระทบทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้า การจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น “ทรัพยากรน้ำ” จึงเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานของทุกประเทศ แต่ละประเทศจึงมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำให้สอดรับกับบริบทของประเทศตนเองทั้งในมิติทางภูมิศาสตร์ มิติทางเศรษฐกิจและมิติทางสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงผล กระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
“รัฐบาลใหม่” ควรเร่งวางยุทธศาสตร์การจัดการบริหารทรัพยากรน้ำแบบยาวๆ อย่างจริงจัง ยกระดับระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate changes ในอนาคต
เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่จึงต้องจุดประกาย “ความหวังใหม่” ว่าภาครัฐจะวางแนวนโยบายจัดการปัญหาน้ำทั้งระบบได้อย่างไร เพราะงบประมาณที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นมีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้สักที เราลงทุนกับระบบสาธารณูปโภค ทั้งถนนและรางจำนวนมาก แต่วันนี้เราต้องทำระบบชลประทานทั้งประเทศอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เป็นโครงการระยะยาว เหมือนทำระบบรางทั่วประเทศ แต่เป็นระบบน้ำทั่วประเทศแทน
ส่วนระยะกลางและระยะสั้น รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากน้ำท่วม ควรใช้เครื่องมือต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการเข้าช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในรอบปีนี้
ที่สำคัญต้องให้กลุ่มเอสเอ็มอีเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะ “สินเชื่อกู้ธุรกิจ” หลังน้ำลด
ประเทศไทยติด “กับดัก” หนี้ครัวเรือนมาเป็นเวลานานกว่า 8 ปี ซึ่งหนี้ครัวเรือนยืนอยู่ในระดับ 90-91% ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบกำลังซื้อ กลุ่มเอสเอ็มอีขาดเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่อง เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้
แม้ว่าล่าสุดกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ 7 ธนาคารรัฐ เช่น ออมสิน กรุงไทย ธอส. และ ธ.ก.ส. เป็นต้นให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ แต่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็ยังกังวลว่าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อยู่ดี เพราะธนาคารกังวลเรื่องหนี้เสีย
“หากจะให้มาตรการนี้บรรลุเป้าหมายและช่วยเหลือเอสเอ็มอีจริงๆ นั้น ต้องผ่อนคลายมาตรการเงื่อนไขต่างๆ ลงด้วย ใครเป็นหนี้ก็พักหนี้ ทั้งต้นและดอกเบี้ยไปด้วย ยังไม่ใช่จังหวะที่ดีแค่ลดดอกเบี้ยให้ครึ่งหนึ่งในช่วงน้ำท่วม”
การจัดตั้ง “กองทุนเพื่อเอสเอ็มอี” ก็เป็นอีกเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการให้อยู่รอดในระยะยาว หรือการจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย” เข้ามาจัดการหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หากกลุ่มเอสเอ็มอี ติดเครดิตบูโรก็สามารถกู้ใหม่ได้ ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ หากกลุ่มนี้หลุดจากเครดิตบูโรก็กู้เงินใหม่ได้ ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง
ผมอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่นี้ผนึกกำลังกับธนาคารพาณิชย์ช่วยกันตั้งกองทุนขึ้นมาเหมือนสมัยก่อนที่ช่วง “ต้มยำกุ้ง” ก็ตั้งกองทุนขึ้นมา แล้วให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยดูสินเชื่อที่ออกมา
“หากกลัวหนี้เสีย รัฐบาลควรจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีโค้ด 21 ที่เป็นกลุ่มลูกหนี้ชั้นดี แต่มีปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าช่วงโควิด-19 เพราะกลุ่มนี้มีประวัติการเงินดี และต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก”
นอกจากน้ำท่วมและการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้แล้ว เอสเอ็มอีไทยยังถูกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดอย่างหนัก กระทบหลากหลายอุตสาหกรรม หากปล่อยไว้อาจจะกระทบมากขึ้นจนหลายกิจการอาจจะต้องปิดตัวเพิ่มขึ้นอีก
มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรทำออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ได้ นอกจากเรื่องเงิน ส่วนตอนนี้มันมีเรื่องตลาด E-commerce เข้ามา รัฐบาลต้องมาช่วยเอสเอ็มอีผ่านโครงการ Made In Thailand ที่ผ่านมาเราพูดกันมากแต่ไม่มีอะไรออกมาเลย รัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง เริ่มจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นักการเมือง ข้าราชการ เป็นแบบอย่างในการใช้สินค้าไทย กระตุ้นคนไทยให้เกิดความภาคภูมิใจในการใช้สินค้าไทย และลดกระแสการใช้สินค้าและหยุดการเห่อสินค้า Brand name จากต่างประเทศ
โดยเฉพาะการสนับสนุนการผลิตสินค้าไทยจากเอสเอ็มอีไทย โดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จะต้องมีมาตรการสนับสนุนคนตัวเล็กอย่างเอสเอ็มอีที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ ด้วยประเภทกิจการที่ครอบคลุมกว่า 300 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงแรม ท่องเที่ยว การแปรรูปผลไม้และผัก อาหาร
ออร์แกนิค สมาร์ทฟาร์มมิ่ง ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
ทว่าโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเงื่อนไขมากมายที่เป็นเสมือนกำแพงปิดกั้นความฝันของเอสเอ็มอี
“วันนี้หน่วยงานรัฐบาลบอกว่าต้องมีมาตราการสนับสนุนเอสเอ็มอี ถ้าบริษัทนั้นพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนไทยและเป็นเอสเอ็มอี ภาครัฐจะต้องให้ Handicap ให้สิทธิประโยชน์มากกว่าต่างชาติ ไม่ว่าเรื่องภาษี กฎระเบียบ การเงิน การตลาด โดยผ่านกลไก BOI
แล้วก็เอากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ร่วมกับภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ ก็ต้องมาช่วยกระตุ้นเรื่อง Innovation ด้วยให้กับเอสเอ็มอีโดยตรง”
รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเครื่องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่การผลักดันเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท โครงการหลังจากให้เงินแล้วจะต่อยอดอย่างไร เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนได้หลายรอบ เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก
หากรัฐบาลใหม่ทำได้ พยายามแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ เศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้น เอสเอ็มอีจะอยู่รอด ประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้ สิ่งที่ตามมาอีกอย่างที่อาจจะหายไปคือ ปัญหาหนี้นอกระบบก็จะจัดการได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เท่ากับว่ารัฐบาลใหม่สามารถประหยัดกระสุน “ยิงปืนนัดเดียวได้ผลลัพธ์ตั้งหลายตัว”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ผบ.รบพิเศษ’สั่งกำลังพลเร่งลงพื้นที่ช่วยภาคเหนือ จับมือกู้ภัยขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง
- ยอดดับสะสม 52 ราย กระทบกว่า 6 หมื่นครัวเรือน ปภ.รายงานท่วมหนัก 19 จังหวัด เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน
- ยามาฮ่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม ฟรี! 5 รายการ
- ลำพูน อ่วม!! รับน้ำจากเชียงใหม่หลากท่วม 2 ตำบล ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เร่งตั้งศูนย์ช่วยปชช.