สุรพงษ์ สั่ง ขบ.เร่งยกระดับความปลอดภัยทุกมิติ เตรียมรื้อกฎระเบียบ-คิดยกเลิกรถโดยสารระบบก๊าซ
เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 2 ตุลาคม ที่ห้องประชุมราชรถ 1 อาคารคมนาคม 1 กระทรวง คมนาคม กรุงเทพมหานคร นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม หารือกรณีอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ และ นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ร่วมหารือ
นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลาประมาณ 12.08 น. ได้เกิดเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) บรรทุกเด็กนักเรียนและครู จำนวน 45 ราย เดินทางออกจากจังหวัดอุทัยธานี เมื่อถึงจุดเกิดเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต รถคันดังกล่าวได้เกิดเสียหลักไปเฉี่ยวชนกับรถเก๋ง และไถลเบียดกับแบริเออร์ที่อยู่กลางเกาะถนนวิภาวดี จากนั้นจึงเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเสียหายทั้งคัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 3 รายนั้น
จากการตรวจสอบพบว่า รถโดยสารคันที่เกิดเหตุเป็นรถบัสประเภท 3 ศูนย์ หรือรถโดยสารไม่ประจำทางปรับอากาศชั้นเดียวมาตรฐาน 1 ที่ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี (NGV) โดยล่าสุดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ยกเลิกการประกอบการของผู้ประกอบการรถคันที่เกิดเหตุทั้งหมดแล้ว
โดยได้มีข้อสั่งการระยะสั้นดังนี้
1.ให้ ขบ.เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิงซีเอ็นจี (CNG) ทั้งหมด จำนวน 13,426 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) เข้ารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน โดยจะเริ่มตรวจสอบรถโดยสารไม่ประจำทางก่อนทั้งหมด 2,935 คัน หากพบว่าสภาพและอายุการใช้งานไม่ได้มาตรฐานจะยกเลิกใบอนุญาตไม่ให้ใช้รถทันที
2.ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ทันทีทั้งระบบ (การประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ)
3.สำหรับกรณีให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ให้ ขบ.บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศ กรณีนำรถเช่าเหมา หรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ โดยให้ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
4.ออกกฎหมายให้มี “พนักงานประจำรถ” เช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง โดยพนักงานและผู้ประจำรถ ต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร
5.ออกกฎหมายระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการ (เช่นเดียวกับสายการบิน)
นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ยอมรับว่ากฎหมายระเบียบรถโดยสารปัจจุบันค่อนข้างล้าสมัย ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะมีการรื้อระเบียบรถโดยสารทั้งหมดเพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย โดยจะมาดูการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับถังก๊าซในรถโดยสาร รวมถึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีแนวโน้มการยกเลิกรถโดยสารระบบการติดตั้งด้วยก๊าซทั้งหมด และในหลายปั๊มมีการถอนระบบการเติมก๊าซเยอะแล้ว แต่ก็ต้องมาหารือกันว่าถ้ายกเลิกทั้งหมดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งจะเป็นการตัดสินใจระดับบริหาร
นายสุรพงษ์กล่าวด้วยว่า เราจำเป็นที่ต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้ดีขึ้นและเข้มข้นกว่าเดิมแน่นอน เพราะไม่ต้องการให้มีการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีก
“กระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ วันนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับมาตรฐานทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และฝากถึงผู้ประกอบการขอให้ช่วยตรวจสอบรถ พนักงานขับรถและผู้ประจำรถให้เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป” นายสุรพงษ์กล่าว