ไทยถูกลดอันดับประเทศน่าลงทุน ภาคธุรกิจชี้ ปัจจัยภาษีเงินได้ต่ำจะช่วยดึงดูด

ไทยถูกลดอันดับปท.น่าลงทุน ซีอีโออาเซียนยังเชื่อมั่นให้ติด 1 ใน 5 มองปัจจัยภาษีเงินได้ต่ำช่วยดึงดูด

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท พีดับเบิลยูซี ประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจ Global CEO Survey ที่ใช้ในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 ว่า ความเห็นผู้บริหารระดับซีอีโอในภูมิภาคอาเซียน 61 ราย ใน 7 ประเทศอาเซียน พบว่า ประเทศไทยยังคงติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศที่น่าลงทุน เพราะมีจุดแข็งสำคัญ คือ แรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน การเร่งใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ในปี 2559 ยังพบว่าเป็นปีแรกที่ซีอีโอหยิบยกประเด็นเรื่องภาษีขึ้นมาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนธุรกิจเป็นครั้งแรก อาจเพราะต้องการเพิ่มกำไรสุทธิให้มากขึ้น ส่วนตัวมองว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทยที่อยู่ในระดับ 20% ถือเป็นระดับที่เหมาะสมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยต่ำกว่าประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่อยู่ในระดับ 25-30%

“นโยบายภาษีของภาครัฐถือว่ามาถูกทางแล้ว เช่น การเพิ่มฐานภาษีจากการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังของผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าระบบ แต่การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิตอล และดิจิตอลอีโคโนมีที่พูดถึงมานาน แต่เอกชนต้องการเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองของไทยหากเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่หากไม่เป็นไปตามที่วางไว้ คงต้องมาดูว่าประเทศอื่นมีปัจจัยลบที่รุนแรงกว่าไทยหรือไม่” นายศิระกล่าว

นายศิระกล่าวว่า ในปี 2558 ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่ในอันดับที่ 4 สาเหตุที่ปี 2559 ไทยถูกลดอันดับลงเพราะยังมีจุดอ่อนบางเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ค่าที่แรงที่ปรับเพิ่มขึ้น การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การกระจุกตัวของนิคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และภาระหนี้สินของคนในชนบทและผู้มีรายได้น้อย ส่วนอันดับประเทศที่น่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียนอันดับ 1 คือ จีน อันดับ 2 คือ สหรัฐอเมริกา อันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม อันดับ 4 คือ อินเดีย และอันดับ 5 คือ ไทย สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร

Advertisement

นายศิระกล่าวว่า จากผลการสำรวจยังพบว่าซีอีโออาเซียนมีความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงจากปีก่อนหน้าและมีอุปสรรคต่อการเติบโตทางธุรกิจมากกว่าโอกาส ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ การติดสินบนและคอร์รัปชั่น ขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการจากรัฐบาล คือ สร้างแรงงานที่มีทักษะและปรับตัวได้ดีมีความหลากหลาย สร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพโดยเฉพาะด้านดิจิตอลและระบบสาธารณูปโภค ส่วนความเห็นจาก 1,409 ซีอีโอทั่วโลก พบว่า ซีอีโอมีมุมมองเชิงบวกเรื่องการเติบโตของรายได้ลดลงจากปีก่อนหน้า เชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image