พาณิชย์สหรัฐจี้13ชาติได้ดุล ส่งรายงานตามคำสั่งพิเศษ“ทรัมป์”ภายใน10 พ.ค. 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา  สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ได้รายงานกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯในปี 2559  ภายใน 90 วัน ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งมายังกระทรวงพาณิชย์ของไทย และอีก 12 ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า

โดยในข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯต้องการทราบ ได้แก่ สาเหตุหลักของการขาดดุล โดยพิจารณาถึงมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การทุ่มตลาด (เอดี) การอุดหนุนจากรัฐบาล การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และมาตรฐานแรงงานและระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน  รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ ผลกระทบของการค้ากับประเทศนั้นๆ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และความมั่นคงภายใน รวมถึงต่อการจ้างงาน และค่าจ้างสหรัฐฯ และสินค้านำเข้าและการปฏิบัติทางการค้า ที่อาจมีผลทางลบต่อความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ การขาดดุลที่เกิดจากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นต้น

” กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำหนดให้ผู้สนใจ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้ง 13 ประเทศ ยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ และจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะวันที่ 18 พฤษภาคมนี้”

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ไทยไม่เข้าข่าย หรือมีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ปัจจัยภายในประเทศเชิงโครงสร้างของสหรัฐฯ ปัจจัยจากข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และเอฟทีเอ เพราะไทยไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐฯ  ส่วนประเด็นเอดี ปัจจุบัน สินค้าไทยถูกสหรัฐฯเรียกเก็บอากรเอดี 8 รายการเท่านั้น และที่ผ่านมาบางสินค้าไม่พบการทุ่มตลาด หรือส่งออกไปสหรัฐฯแล้ว ขณะที่ ไทยไม่ได้ใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงิน

Advertisement

ส่วนประเด็นที่น่ากังวลต่อไทยมากที่สุด ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะปัญหาที่สหรัฐฯ เพ่งเล็ง และระบุรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2017 (NTE) ที่ได้หยิบยกขึ้นหารือกับไทยในการประชุมร่วมภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้า และการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่ระบุไทยยังมีการละเมิดมากบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ  การจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้ามาก โดยสหรัฐฯจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และจะประกาศผลการทบทวนสิ้นเดือนเมษายนนี้  รวมถึงมาตรการทางเทคนิค และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยเฉพาะการยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในที่มีสารแรคโตพามีน (สารเร่งเนื้อแดง) และการติดลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงนโยบายนำเข้าของไทย เช่น การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก มาตรการทางศุลกากร, การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การกีดกันการค้าในภาคธุรกิจ และการลงทุน เป็นต้น

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image