“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน”ชี้สังคมยังกังขารัฐบาล“บิ๊กตู่”เล่นพวก-ฉุดภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยแย่ลง

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อทำงานด้านคอร์รัปชัน ซึ่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2558 โดยนายกรัฐมนตรีจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้ข้อตกลงคุณธรรมบรรจุใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มีการตั้งซุปเปอร์บอร์ดดูและเรื่องนี้ แต่ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ยังมีประชาชนยังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ว่ามีความไม่แม่นยำในการเลือกคนลงตำแหน่ง ส่วนเรื่องการเปิดเผยเป็นเรื่องโดดเด่นในรัฐบาลนี้ สนับสนุนระบบอีเพย์เมนต์ อีบิดดิ้ง มีการบังคับต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง แต่สังคมยังมีข้อกังขาว่าทำไมคนที่อยู่ใกล้ตัวนายกรัฐมนตรียังถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และเป็นเรื่องระบบพวกพ้องอำนาจนิยม เช่น เรื่องอุทยานราชภักดิ์ การเดินทางดูงานที่ฮาวาย รวมถึงการไม่ให้ข้อมูลพยายามปิดเป็นความลับในโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมองว่าเรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยลดลงไปมาก

นายมานะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลรับฟังเสียงจากองค์กรต่างๆ ไม่ทั่วถึง เพราะเสียงมีพลังไม่มากเท่าที่ควร มีนักวิชาการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วมงานภาครัฐบ้าง แต่มีส่วนน้อย จำกัดกลุ่มคน จึงถูกมองเป็นประเด็นพวกพ้อง ส่วนกลุ่มประชารัฐ ที่ภาคธุรกิจร่วมมากมองว่าดี แต่เกิดคำถามเชื่อได้อย่างไรเมื่อมีมาตรการออกมาจะไม่มีคอร์ปรัปชันเชิงนโยบายแฝงอยู่ จึงต้องรอเวลาพิสูจน์ ขณะที่เรื่องกฎหมายและการบังคับใช้ กลไกของราชการยังไม่ตอบสนองกฎหมายที่ออกมา เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ผ่านมา 2 ปี ไม่มีการพัฒนากระบวนการให้บริการประชาชน หากทำได้จะเป็นการปฏิรูประบบบริการ พบว่า 95% ประชาชนไม่รู้กฎหมายตัวนี้ และ พ.ร.บ.ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย มีมาตราหนึ่งในกฎหมายตัวนี้ระบุว่าภายใน 1 ปี รัฐมนตรีจะต้องทำการรวบรวมกฎหมายในความรับผิดชอบตัวเองเสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย พบว่า ตั้งแต่สิงหาคม 2558 ไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เพราะเจ้าหน้าทีทคงไม่เห็นความสำคัญที่จะปรับปรุง กลัวทำผิดจึงเฉยๆ หรือกลัวเสียประโยชน์ ควรตั้งหน่วยงานติดตามเฉพาะ

“พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ออกมาแล้ว 2 ปี ในทางปฏิบัติให้คะแนนไม่ถึง 10% พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ องค์กรต่างประเทศให้การยอมรับ ออกกฎหมายได้ฉลาดมีอนาคต แต่ยังมีการออกกฎหมายที่ต้องปฏิรูปหรืออออกใหม่ สำคัญสุดออกกฎหมายรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนประชาชนรวมตัวกันต่อต้านคอร์รัปชัน โดยรัฐให้การสนับสนุน นอกจากนี้รัฐบาลยังขับเคลื่อนตามกระแสสังคมโชเชียลมีเดียอย่างมาก รัฐบาลบอกว่าการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ แต่ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ไม่ได้กำหนด และในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่มีกรรมาธิการต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องคอร์รัปชันมีมายาวนานในไทย สิ่งสำคัญคือการแก้ไขปัญหาระยะยาว ใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆมา แต่เหตุการณ์ทุจริตเล่นพวกพ้อง ไม่เล่นงานพวกตัวเอง ทุกคนเห็นเหมือนกัน วันนี้อยากให้จับตามองการวางโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศ”นายมานะกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image