7แบงก์รัฐปลดแอกแบงก์ใหญ่ ผนึกกำลังขอชี้นำอัตราดอกเบี้ยแทน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา และเฟดส่งสัญญาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ซึ่งจากการประชุมระหว่างผู้บริหารสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(สภาแบงก์รัฐ) ล่าสุด มีข้อสรุปร่วมกันว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 7 แบงก์รัฐจะประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของแบงก์ จากเดิมต่างคนต่างพิจารณาและอิงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยมติสภาแบงก์รัฐจะพยายามคงดอกเบี้ยกู้ในปีนี้ หากกนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบงก์รัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ช้าที่สุด แต่หากกนง.ลดดอกเบี้ย แบงก์รัฐจะพยายามลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชน

“แบงก์รัฐพยายามชี้นำตลาดในเรื่องดอกเบี้ยบ้าง เพราะ 3 แบงก์รัฐ คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) และธอส. มีพอร์ตสินเชื่อรวมกันกว่า 5 ล้านล้านบาท มูลค่าใกล้เคียงกับแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่รวมกัน 5 แห่ง ต่อไปหาก กนง.มีมติเรื่องดอกเบี้ย ผู้บริหารแบงก์รัฐ 7 แห่งจะนัดหารือเพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของแบงก์รัฐทันที”

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ในปีนี้หากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น 1-3 ครั้ง ธอส.ยังสามารถตรึงดอกเบี้ยได้ แต่หากต้องปรับขึ้นจริงจะปรับเพียงครั้งเดียวในอัตรา 0.125-0.25% ต่อปี “การตรึงอัตราดอกเบี้ยอาจกระทบต่อต้นทุนบ้าง แต่เป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาลมอบให้แบงก์รัฐทำธุรกิจแบบไม่ต้องเน้นกำไรสูงสุด” นายฉัตรชัยกล่าวและว่า ธอส.คาดว่าปีนี้กำไรจะลดลงประมาณ 1 พันล้านบาท จากนโยบายไม่เน้นกำไร และธนาคารออกแพคเกจสินเชื่อต่ำหลายตัว แต่ภาพรวมกำไร ธอส.ในปีนี้ยังสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายฉัตรชัย กล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายวางไว้ ล่าสุดอยู่ที่ 35-37% ของเป้าหมาย จากปกติต้องปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 45% ของเป้าหมาย จึงปรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อใหม่ ขยายราคาบ้านแพคเกจสินเชื่อพิเศษ เช่น สินเชื่อสานรักกำหนดดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ขยายราคาบ้านเป็น 3 ล้านบาทจาก 2 ล้านบาทรวมถึงขยายวงเงินปล่อยกู้เป็น 5 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 8 พันล้านบาท และล่าสุดเปิดตัวสินเชื่อบ้าน FOR HOME อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3.43% ต่อปี วงเงินปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาท และเตรียมไว้อีก 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าแพคเกจสินเชื่อทั้งหมดจะทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อทั้งปีได้ตามเป้าหมาย

Advertisement

นายฉัตรชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ 31 พฤษภาคม 2560 หรือหลังจากครบรอบ 1 ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ว่าธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่รวมได้ 163,382 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 947,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.60% เงินฝากรวม 802,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.04% สินทรัพย์รวม 994,721 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.25% โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 50,872 ล้านบาท คิดเป็น 5.37% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลง 0.40% หรือ 456 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.32% (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) กำไรสุทธิ (พ.ค. 59- พ.ค. 60) 11,193 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรยังคงเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วยกลไกหลักของธนาคาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image