กรมทางหลวงจับมือ กยท.ปั้นยางแผ่นดิบ 8 พันตันเป็นวัสดุบนถนน ช่วยชาวสวนเดือดร้อนราคาตก

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม กรมทางหลวง(ทล.)ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท) ที่กรมทางหลวง

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวสวนยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเป็นการนำยางพารามาใช้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆของกรมทางหลวง โดยเบื้องต้นจะนำยางพาราแผ่นดิบมาทำเป็นเสาหลักนำทางประมาณ 1.2-1.3 แสนต้น ซึ่งแต่ละต้นจะมีน้ำหนักประมาณ 40-42 กิโลกรัม ใช้งบดำเนินการประมาณ 400 ล้านบาท

นายธานินทร์ กล่าวว่า หลังลงนามร่วมกับ กยท.แล้ว กรมทางหลวงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทันที จะใช้เวลาในการผลิตไม่เกิน 6 เดือน หรือจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2561 จากนั้นจะนำเสาหลักนำทางที่ได้ไปให้แขวงการทางต่างๆนำไปติดตั้งต่อไป โดยราคาเฉลี่ยของเสาหลักนำทางดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 2,600 บาท/ต้น ซึ่งสูงกว่าเสาคอนกรีตปกติประมาณ 400 บาท แต่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความยืดหยุ่น สามารถลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุได้

“ตามนโยบายของรัฐบาลในช่วง 2 ปี กรมทางหลวงจะต้องใช้ยางพารามาใช้ในการดำเนินงาน 9,000 ตัน โดยที่ผ่านมาได้นำน้ำยางมาใช้ในการทำถนนแล้ว 1,000 ตัน ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากการนำน้ำยางมาใช้จะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ดังนั้นจึงเหลืออีก 8,000 ตันที่กรมทางหลวงจะต้องนำยางพารามาใช้ ซึ่งนอกจากการนำมาทำเสาหลักนำทางแล้ว กรมทางหลวงยังมีแผนจะนำไปใช้ทำวัสดุอุปกรณ์อย่างอื่นด้วย เช่น แบริเออร์กั้นถนน รวมถึงการทำเสาหลักกิโลเมตร และการนำมาปูทางเท้า เป็นต้น”นายธานินทร์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image