บอร์ดกสทช.ไม่เคาะประมูลคลื่น 1800 รอกฤษฎีกาตีความชุดรักษาการมีอำนาจหรือไม่ พร้อมชะลอประมูลคลื่น 900 ด้วย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช.มีการประชุม โดยหยิบยกเรื่องการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีคำท้วงติงจากผู้ประกอบการวงการโทรคมนาคมถึงกรณีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานทางด้านโทรคมนาคม กสทช. ทำข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ จากเดิมกำหนดเปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ว่าอาจทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง หรือทั้งหมด อาจเข้าข่ายการฮั้วกันหรือไม่

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณาแล้วและมีมติให้รอความคิดเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากฐานอำนาจหน้าที่ต่างๆ ของ กสทช.ในชุดรักษาการ จะสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้หรือไม่อย่างไร ส่วนที่คณะอนุกรรมการฯเสนอให้ปรับเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ เป็น 9 ใบอนุญาตนั้น มาจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีผู้เสนอให้จัดทำดังกล่าวเพราะเห็นว่าแนวทางเดิมคือแบ่งเป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ ต่อ 1 ใบอนุญาตนั้นอาจไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีมติต่อท้ายจากที่ประชุมครั้งนี้ว่าหากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาล่วงเลย 1-2 เดือนแล้วยังไม่มีคำตอบกลับมายัง กสทช. จะให้บอร์ด กสทช.ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะแม้จะยังอยู่ในช่วงรักษาการก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้รัฐเสียหายแต่อย่างใด

นายฐากรกล่าวว่า ด้านคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะมีการประมูล 5 เมกะเฮิรตซ์นั้น มติในที่ประชุม ขอให้ชะลอการประมูลเรื่องนี้ไว้ก่อน จนกว่าการทดลองคลื่นความถี่ในย่านนั้นจะไม่กระทบหรือรบกวนกับระบบของรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งจะไม่กระทบกับระบบโทรศัพท์มือถือที่จะมีการประมูล ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการอนุญาตให้นำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปทำเป็นรถไฟความเร็วสูง โดยมีการอนุญาตให้อยู่แล้ว และจะต้องเปิดให้ใช้งานได้ไม่เกินปี 2563 ทั้งนี้หากคลื่นในย่านนั้นไม่นำไปใช้งาน กสทช.ก็สามารถนำคลื่นดังกล่าวกลับมาโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นกระบวนการทั้งหมดไม่ได้ทำให้การดำเนินการชะลอ หรือช้าออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากได้ดำเนินการมาครบทั้งหมดแล้ว

นายฐากรกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติในการดำเนินการโครงการยูโซ่ เน็ต เฟส 2 จำนวน 15,723 หมู่บ้าน โดยใช้กรอบวงเงินราว 3,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้พื้นที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด คาดว่าจะเปิดดำเนินการให้ทันภายในเดือนธันวาคมนี้ ตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าจะออกประกาศการประกวดราคาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้การลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และเดือนพฤศจิกายนจะเปิดให้บริการได้ครบทุกหมู่บ้าน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image