‘สสวท.’ชูวิสัยทัศน์ใช้ความรู้นำไทยสู่ยุค 4.0 ปั้นนักคิด ใช้วิทย์สร้างภูมิคุ้มกัน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมจัดแสดงในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 ที่บริเวณบูธกิจกรรมสสวท. ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีหัวข้อกิจกรรมคือ “สสวท.ปั้นนักคิดวิทย์สร้างภูมิ(คุ้มกัน)” เพื่อเป็นเวทีความคิดสร้างความตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีบทบาทเด่นชัดต่อการขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงอนาคตโลก

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 วิสัยทัศน์เชิงนโยบายเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนำพาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสวท.จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่สุด มีหน้าที่หลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของคนไทย

ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวถึงวิสัยทัศน์การดำเนินงานว่า สสวท.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำหน้าที่ชี้ทิศทาง ประสาน และส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งในและนอกสถานศึกษาให้นักเรียนพัฒนาตามศักยภาพขึ้นเป็นประชากรที่มีความรู้ นักวิชาชีพฐานดี และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำต่อไป เป้าหมายเด่นชัดจึงมุ่งตรงไปที่คุณภาพของ“ผลผลิต”นั่นคือนักเรียนไทยได้รับการพัฒนาความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี มีความสามารถ มีทักษะในการนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิต สร้างอาชีพ พัฒนาผลผลิต และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีทักษะในการใช้ชีวิตโดยไม่ติดกับดักของผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเรียนรู้วันนี้จึงต้องสร้างเด็กไทยให้เป็น”นักคิด”ที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน แก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ โดยยังคงคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวของโลกยุคดิจิทัล หรือ สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตนั่นเอง

“พื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กไทยจึงต้องมีทักษะของวิทยาการคำนวณ (Computing science) อันมิใช่เรียนรู้แค่การใช้คอมพิวเตอร์แค่ขั้นพื้นฐาน(USER) เท่านั้น แต่จะได้กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถรับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ ประกอบด้วยการคิดเชิงคำนวณ ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารซึ่งเป็นทักษะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ขณะเดียวกันชั้นเรียนของเด็กยุคใหม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงใจผู้เรียน สสวท.จึงได้พัฒนาลูกเล่นของหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์สร้างความเข้าใจและเข้าถึงผู้เรียนได้ง่ายขึ้น โดยนำ AR ( Augmented Reality) มาใช้อธิบายเนื้อหาที่เป็นนามธรรมซึ่งต้องใช้จินตนาการช่วยสร้างความเข้าใจ แต่ก็สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจน เช่น ภาพเสมือน 3 มิติ อันเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ในหนังสือเรียนซึ่งนอกจากจะดึงดูดความสนใจแล้ว เด็ก ๆ ยังได้ฝึกใช้เทคโนโลยีศตวรรษที่ 21 อีกด้วย”นายชูกิจ กล่าว

ผอ.สสวท.กล่าวด้วยว่า สสวท. ได้เร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรม ผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยบัณฑิตที่เป็นผลผลิตจากโครงการนี้จะเข้ามาเป็นพลังของประเทศเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ยกระดับคุณภาพและ เพิ่มรายได้ทั้งภาคการผลิตและการบริการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแข่งขันได้ในโลกอนาคต การเรียนรู้ของเด็กไทยในวันนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างนักคิด ที่มีทักษะ ความรู้ เท่าทันสังคมโลก ที่เปลี่ยนไปสามารถใช้ความรู้เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิต การทำงาน รู้เท่าทันผลกระทบจากการพัฒนา สร้างนวัตกรรมและอาชีพที่แข่งขันได้โดยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป็นภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image