‘ศธ.-สสวท.-สพฐ- สกศ.’จับมือ OECD จัดสัมมนา’ยกระดับการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ. ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดสัมมนาเรื่อง “การยกระดับการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” : ประสบการณ์จาก PISA 61 (Raising Learning Outcomes in Southeast Asia : Insights from PISA) ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอ สุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ

โดยการสัมมนาครั้งนี้มี Mr.Andreas Schlicher,Director,Directorate of Education and Skills,OECD เข้าร่วมพร้อมด้วยผู้บริหารและนักการศึกษาจาก 7 ประเทศ ประกอบด้วยบรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนได้นำเสนอนโยบายด้านการศึกษาที่เป็นผลสืบเนื่องจากการประเมิน PISA รวมทั้งประเด็นที่น่าสนใจ เชื่อมโยงหลักสูตรการเรียนการสอนกับการประเมินผล สนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งร่วมกันหาแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพครูและผู้นำโรงเรียนในการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษารองรับศตวรรษที่ 21 ด้วย PISA หรือ Programme for International Student Assessment เป็นโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ริเริ่มโดย OECD มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเนื่องจากประธาน OECD พร้อมทีมงานได้มาร่วมประชุม โดยมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจเพื่อประเมินระบบการศึกษาทั่วโลก ผ่านการทดสอบทักษะและความรู้ความสามารถของนักเรียน หรือ PISA ที่ผ่านมานั้น มีบางฝ่ายออกมาโจมตีระบบการศึกษาไทยและวิเคราะห์ไปในทางที่ไม่ดี ซึ่ง OECD แจ้งว่า ไม่ควรนำ PISA มาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา เพราะการประเมินดังกล่าวเป็นการออกแบบเพื่อนำข้อบกพร่องไปปรับปรุงแก้ไขและไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ เพราะแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน อาทิ ประเทศไทยมีโรงเรียนทุกประเภทเข้าร่วม ในขณะที่เวียดนามเข้าร่วมบางกลุ่ม และคะแนนของเด็กไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มีโรงเรียนกลุ่มวิทยาศาสตร์ได้คะแนนอันดับที่สองของโลก ซึ่งเด็กไทยมีศักยภาพแม้ว่ามีโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ขาดอุปกรณ์การเรียน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งเรายังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ ซึ่งต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า สสวท. จัดประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยมีการเตรียมการเรื่อง PISA อย่างต่อเนื่อง การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานที่ออกข้อสอบและประเมินผล ทำให้รู้ถึงมาตรฐานโลกว่าประเมินผลอย่างไรและนำมาช่วยในการดำเนินการของเราเพราะไม่ใช่เด็กไทยไม่เก่งหรือระบบการศึกษาไทยแย่ แต่ต้องรู้แนวทางการประเมิน ซึ่ง OECD พร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการศึกษาต้องช่วยกันแก้ไขอย่างสร้างสรรค์มากกว่าโจมตี จึงจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างแท้จริง การสัมมนาวันนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์และความรู้เต็มที่ การประเมินผลวัดมาตรฐานการศึกษา สามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่ง PISA เป็นรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้จะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ เช่น จีน สิงคโปร์ ซึ่งมีการพัฒนาอันดับต้นๆของโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนอื่นๆ

Advertisement

ด้านนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า การเรียนการสอนเป็นหลักสูตรการดำเนินการ และPISA เป็นเรื่องของผลการดำเนินงาน ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดอื่นๆ กล่าวคือ คะแนนประเภทไหนที่ดีแล้ว คะแนนประเภทไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเร่งด่วน นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ สามารถส่งเสริมความรู้ระหว่างประเทศต่างๆ เช่น คะแนนด้านไหนมีผลต่อการพัฒนาอย่างไร โดยเฉพาะ OECD ตั้งใจสนับสนุนภูมิภาคของเราเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
Mr.Andreas Schleicher, Director, Directorate of Education and Skills OECD กล่าวว่า สิ่งที่เห็นมาตลอดคือ ประเทศไทยมีการวางรากฐานการศึกษาที่ดี วันนี้จะบอกให้ประเทศไทยทำอะไรอย่างไรคงไม่ได้ แต่เป็นการศึกษาว่าประเทศที่ทำได้ดีเป็นอย่างไร มั่นใจว่าระบบการศึกษาและการทดสอบตามโปรแกรม PISA ของไทยจะทำได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและเรียนรู้ร่วมกัน ปัญหาการศึกษาของไทยมีบางจุดที่ยังท้าทายให้ต้องปรับปรุงแก้ไข ในขณะเดียวกันมีหลายจุดที่ดีระดับโลกแม้อยู่ในถิ่นห่างไกล ซึ่งน่าสนใจว่าทำได้อย่างไร และหาแนวทางเพื่อให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่สมาชิก OECD แต่สมัครเข้าร่วมโครงการในฐานะประเทศร่วมโครงการ (Partner countries) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 (PISA 2000) เพื่อตรวจสอบคุณภาพของระบบการศึกษาและสมรรถนะของนักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับของชาติ เกี่ยวกับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต โดยใช้มาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้วเป็นเกณฑ์ชี้วัดผลสัมฤทธิ์จากการทำแบบทดสอบและแบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน รวมทั้งนโยบาย การบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนจากผู้บริหารของโรงเรียนทำให้ได้ข้อมูลคุณภาพการศึกษาของประเทศ เพื่อนำไปสู่การประเมินและพัฒนานโยบายการศึกษา หลักสูตร พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งจัดการเรียนการสอนของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป
ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมโครงการ PISA มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ และดำเนินการต่อเนื่องมาใน PISA 2003, PISA 2006, PISA 2009, PISA 2012, PISA 2015 และ PISA 2018 โดยจัดการประเมินต่อเนื่องทุกสามปี ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินงานโครงการ PISA 2021

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image