ห่วงตั้งกระทรวงอุดมฯ ทำมหา’ลัยกลายเป็นห้องแลป เครื่องมือเชิงพาณิชย์เอกชน

สมพงษ์ จิตระดับ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายสมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และควบรวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ล่าสุดเคาะชื่อใหม่คือกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากนายกฯ ให้นโยบายว่าปฏิรูปอุดมศึกษาต้องมาก่อน เพราะเป็นรากฐานในการศึกษาประกอบด้วย การวิจัย สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม อีกทั้งกระทรวงใหม่ต้องครอบคลุมทุกศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ว่า เท่าที่ดูทิศทางการจัดตั้งกระทรวงใหม่ มีการรับฟัง และแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ทำให้เห็นทิศทางอนาคต ว่าแยกอุดมศึกษาออกมาแล้วจะตอบโจทย์อะไรบ้าง แต่สิ่งที่อยากให้ระวัง คือ กลุ่มนักการเมืองจะใช้มหาวิทยาลัยเป็นห้องแลป ทำงานวิจัยของภาคธุรกิจ เอกชน กลายเป็นฐานทางธุรกิจ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกระทรวงใหม่

“เราเรียกร้องให้แยกอุดมศึกษาออกมาจากศธ. เพราะมหาวิทยาลัยต้องการอิสระ และเสรีภาพทางวิชาวิชาการ ไม่ใช่มาเป็นเครื่องมือภาคเอกชนทำงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ยอมรับว่าอาจต้องมีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมดต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้ทำวิจัยเชิงสร้างสรรค์และมีอิสระทางวิชาการด้วย การแยกอุดมศึกษาออกมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม เป็นทิศทางที่ถูกต้องไม่ใช่การย้ายจากศธ. ไปอยู่กับวท. จะทำให้ติดกับดักระบบราชการ และถือเป็นวิกฤตอย่างรุนแรง”นายสมพงษ์ กล่าวและว่า วิกฤติอีกเรื่องที่เราต้องแก้ไข คือการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบทีแคส ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีมากขึ้น ขณะที่จำนวนเด็กลดลง มหาวิทยาลัยต่างแย่งกันรับเด็กเข้าเรียน  ทีแคสกลายเป็นระบบเกลี่ยเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งหลักคิดตรงนี้ไม่ถูกต้อง มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ปรับหลักสูตร และลดจำนวนรับเด็กลง เพื่อให้จัดการเรียนการสอนได้มีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้คิดเช่นนั้น ดังนั้นโจทย์ที่อุดมศึกษาต้องคิด ไม่ใช่แค่เรื่องการแยกกระทรวง แต่ต้องปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งใหญ่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image