‘หมอธี’ ขอเช็กข้อสอบPISA หลังพบแปลไทยแบบอังกฤษ หวั่นเด็กสับสนคะแนนตก

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงแรมบางกอก พาเลส กรุงเทพฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)   กล่าวในการเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินการ โครงการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ประจำปี 2561 หรือPISA 2018 โดยมี ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มีโรงเรียนเป้าหมายเฉพาะ เข้าร่วมจำนวน 330 คน ว่า  โครงการ PISA ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD  เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษา โดยประเมินความสามารถด้านการรู้เรื่องการอ่าน  การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์  มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศทำการประเมินต่อเนื่อง 3 ปีต่อครั้ง  ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2561 นี้จะมีการประเมินอีกครั้ง ทั้งนี้ตนได้จัดตั้งศูนย์PISA  สพฐ. ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม และดูภาพรวมการจัดสอบ โดยการสอบในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นการสอบที่เน้นการอ่าน เป็นหลัก และได้มีการกำหนดกรอบการสุ่มตัวอย่างนักเรียนที่เข้าสอบ ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีช่วงอายุ 15 ปี 3 เดือน จนถึง 16 ปี 2 เดือน ณ เดือนที่เก็บข้อมูล สำหรับPISA ประเทศไทย เก็บข้อมูลในเดือนสิงหาคม ดังนั้น กลุ่มตัวอย่างจึงต้องเป็นนักเรียนที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 และกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป จากโรงเรียนทุกสังกัด

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า   การประเมิน PISA   ปี2558 ที่ผ่าน ประเทศไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย ตามหลังประเทศเวียดนาม  ทั้งที่ทุกคนก็คิดว่า เด็กเราเก่ง ไม่ด้อยกว่าใคร เพราะ สามารถไปแข่งระดับโลก และได้รางวัลกลับมาจำนวนมาก  อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำให้คะแนน PISA สูงขึ้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อม  ถอดบทเรียนที่เป็นอุปสรรค อย่างเช่น เรื่องอายุเด็กที่เข้าสอบ  เดิมโรงเรียนจะคิดว่า เป็นเด็กที่เรียนอยู่ชั้นม.3 เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เด็กที่อยู่ในช่วงอายุที่กำหนด  คือ 15 ปี 3 เดือน จนถึง 16 ปี 2 เดือน อาจจะเรียนอยู่ชั้นที่สูงกว่านั้น  หากเราให้เฉพาะเด็กที่อยู่ม.3 สอบ ก็อาจจะทำให้ได้คะแนนที่ไม่ตรงความเป็นจริง และไม่มีความเป็นธรรม  ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่องการแปลภาษาในข้อสอบ PISA ซึ่งนักภาษาศาสตร์ บอกว่า เป็นการแปลภาษาไทย แบบอังกฤษ อาจทำให้เกิดความสับสน ไม่เป็นธรรมกับเด็กไทยที่จะเข้าสอบ   ซึ่งตนได้ย้ำให้สพฐ. ลงไปดู และได้หารือกับ  ผู้อำนวยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ขอเช็กการแปลภาษาของข้อสอบPISA ด้วย

“ข้อสอบPISA  ยังเป็นความลับ เพียงแต่ผมต้องการดูเพื่อเช็กการแปลภาษาข้อสอบ  เรื่องนี้ทางผู้เชี่ยวชาญของ OECD  และผู้เชียวชาญ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็เห็นด้วยว่า มีปัญหาในหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย  หากทางหน่วยงานที่ประเมินยืนยันไม่ให้เช็กข้อสอบ ผมก็จะไม่ให้เด็กไทยเข้าสอบ นอกจากนี้ยังหารือกับทาง OECD ขอตัดกลุ่มตัวอย่างผู้เข้าสอบ อย่างเช่น กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งบางโรงเรียนมีครูคนเดียว แต่ไม่ใช่ว่าไม่ให้เด็กกลุ่มนี้สอบยังให้สอบ แต่ไม่นำผลคะแนนมาประเมินภาพรวมในระดับประเทศ  ซึ่งทาง OECD ก็ตกลง แต่ก็ต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image