ร.ร.เอกชนร้อง ‘บิ๊กจิน’ ขออุดหนุน ‘รายหัว-อาหาร’ เพิ่ม 100% จี้ สพฐ.เลิกรับอนุบาล 3 ขวบ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงเเรมมิราเคิล แกรนด์ นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การศึกษาเอกชนกับการปฏิรูประบบการศึกษาไทย” จัดโดย ส.ปส.กช.และสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายชลำ อรรถธรรม รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) คณะที่ปรึกษา และกรรมการ ส.ปส.กช.และนายกสมาคมการศึกษาเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 100 คน ว่า การประชุมวันนี้เพื่อให้โรงเรียนเอกชนแต่ละแห่งบอกเล่าปัญหา เพื่อรวบรวมเป็นลายลักษ์อักษร เบื้องต้นเสนอ 2 เรื่อง คือ 1.เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน 100% เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษา และ 2.เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียน 100% ที่โรงเรียนเอกชนทุกภาคต้องการให้เปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะถือเป็นเรื่องความเสมอภาค เนื่องจากนักเรียนโรงเรียนเอกชน และรัฐ เป็นเด็กไทย สัญชาติไทยเหมือนกัน แม้แต่เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าเรียน ยังได้กินอาหารกินฟรี ขณะที่นักเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันเพียง 28% เท่านั้น

นายบัณฑิต ครุฑางคะ ผู้อำนวยการโรงเรียนกุลดิสวิทยานุสรณ์ และอุปนายก ส.ปส.กช.กล่าวว่า เรื่องที่อยากเสนอ พล.อ.อ.ประจิน คือนโยบายรับเด็กอนุบาล ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดเกณฑ์ใหม่ จากเดิมเปิดรับตั้งแต่ 4 ขวบ เปลี่ยนเป็น 3 ขวบแทน ทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบมาก เพราะในอดีตมีเพียงโรงเรียนเอกชน และศูนย์เด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เท่านั้นที่รับได้ จึงเกิดปัญหาที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศธ.ลงพื้นที่ จ.พิจิตร และพบนักเรียนอนุบาลห้องละ 1-2 คนเท่านั้น จึงอยากเป็นข้อเสนอหนึ่งให้ พล.อ.อ.ประจิน พิจารณานโยบายนี้ใหม่

นายชลำกล่าวว่า เรื่องเงินอุดหนุนรายหัว เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม กช.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และประเภทอาชีวศึกษา โดยคณะทำงานฯ จัดทำแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคล ศึกษาอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสม และวางแผนขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยตั้งนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธาน คาดว่าเดือนกรกฏาคมจะมีความชัดเจนมากขึ้น

“ค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนเอกชนได้รับ 28% ถือว่าน้อยมาก ต้องต่อสู้เพื่อให้เด็กได้รับสิทธิ ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาเพิ่มงบอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน แม้โรงเรียนเอกชนจะประสบปัญหาหลายด้าน แต่ต้องอาศัยร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ ที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการบรูณาการในพื้นที่ และรัฐไม่นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน” นายชลำ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image