แห่ประชามติค้านม.นเรศวรออกนอกระบบ สุดท้ายผู้บริหารกลับลำ อ้างแค่หยั่งเสียงไม่มีผลผูกมัด

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการจัดทำประชามติ จากประชาคมกรณีการเปลี่ยนแปลงสถานะเพื่อออกนอกระบบ ทั้งนี้ผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบการออกนอกระบบ ผู้ใช้สิทธิ์ในการเห็นชอบ จำนวน 803 คน คิดเป็นร้อยละ 26.40 ผู้ใช้สิทธิ์ในการไม่เห็นชอบ จำนวน 1,862 คน คิดเป็นร้อยละ 61.21

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากประชาคมในมหาลัยว่าการทำประชามติดังกล่าว เต็มไปด้วยความเร่งรีบเร่งรัด มีการออกหนังสือด่วนที่สุดในวันที่ 13 เพื่อแจ้งเรื่องการทำประชามติและกำหนดการทำประชามติเป็นวันที่ 18 มิถุนายน โดยไม่มีการรับฟังหรือถกเถียงข้อดีข้อเสีย รวมถึงแผนการหารายได้ของมหาวิทยาลัยในอนาคตอย่างมีระบบแบบแผนชัดเจน

แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งนี้ แนวคิดการพยายามนำมหาวิทยาลัยนเรศวรออกนอกระบบเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 แต่ถูกคัดค้าน และผู้บริหารในอดีตให้สัญญาว่าจะยังไม่นำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาผลักดัน กระทั่งเรื่องดังกล่าวถูกยกขึ้นมาในปัจจุบัน ซึ่งการทำประชามติมีลักษณะเร่งรีบ ขาดการให้ข้อมูลที่รอบด้าน โดยเฉพาะแผนการหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยหลังจากออกนอกระบบแล้ว ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงโดยคณะผู้บริหาร โดยก่อนหน้านี้มีการพบปะกับประชาคมมหาวิทยาลัย 2 ครั้ง ส่วนใหญ่พูดแต่ข้อดีของการออกนอกระบบ เมื่อมีผู้พยายามสอบถามหาคำตอบที่เป็นรูปธรรมก็ไม่มีใครสามารถตอบได้

“ในช่วงของการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยใช้คำว่าการทำประชามติ ออกคำสั่งเร่งด่วนตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.ประกาศลงเว็บไซด์วันที่ 14 มิ.ย. และวันลงประชมติจริงคือวันที่ 18 ซึ่งผลปรากฏว่าเสียงไม่เห็นชอบมากกว่า แต่ทุกคนก็ต้องตกใจเพราะหลังการประชุมของคณะกรรมการบริหาร ในวันที่ 19 มิ.ย. ผลกลายเป็นมีการเปลี่ยนจากคำว่า”ประชามติ” ที่ทุกคนคาดว่ามีผลผูกมัด เป็นการ “หยั่งเสียง” เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับสภามหาวิทยาลัยในการพิจารณาเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ”

Advertisement

แหล่งข่าวระบุอีกว่า ปัญหาการออกนอกระบบเป็นม.ในกำกับของรัฐ คือกลุ่มลูกจ้างที่รู้สึกมีความเสี่ยง เพราะผู้บริหารไม่บอกแผนที่จะช่วยเหลือ ยกตัวอย่าง การระเบียบของกระทรวงการคลังเมื่อสองสัปดาห์ก่อนเรื่องเกี่ยวกับการจ้างพนักงานในองค์กร มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ปกป้องพนักงาน แต่ประกาศยินดีที่จะทำตามระเบียบของกระทรวงการคลังเต็มที่ จนทำให้ขวัญกำลังใจของลูกจ้างสูญหาย ในส่วนเจ้าหน้าที่สายวิชาการก็มีความกังวลเพราะปีที่ผ่านมาถูกตัดงบวิจัยเป็นมูลค่านับสิบล้าน ซึ่งการออกนอกระบบก็ไม่ได้มีแผนในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีผลการวิจัยเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ก็จะทำให้การหาทุนการวิจัยเป็นไปโดยยาก ทั้งนี้การเดินหน้าออกนอกระบบ จะไม่สง่างามเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งหากจะสำรวจความเห็น หรือหยั่งเสียงจริง แค่ทำโพลก็พอ แต่นี่เป็นการทำประชามติ ซึ่งต้องมีผลผูกมัด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว ได้ตรวจสอบ เข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็พบว่าเป็นจริงตามคำร้อง มีการประกาศเชิญชวนไปลงประชามติ ร่วมออกเสียงการปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยให้ไปอยู่ในกำกับของรัฐแทน ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 08.30-16.30 น. โดยต้องแสดงหลักฐานเพื่อใช้สิทธิ์ (คลิกที่นี่ )  รวมถึงมีคำสั่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงคณบดีทุกคณะ แจ้งประกาศดังกล่าว ออกในวันที่ 13 มิ.ย. อีกด้วย (คลิกที่นี่)  แต่วันที่ 19 มิถุนายน ข่าวมหาวิทยาลัย ระบุว่า ผลประชามติเป็นไปเพื่อหยั่งเสียงประกอบเป็นข้อมูลการนำเสนอ (คลิกที่นี่)

Advertisement
มีการประกาศเชิญชวนไปลงประชามติ ร่วมออกเสียงการปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยให้ไปอยู่ในกำกับของรัฐแทน ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 08.30-16.30 น. โดยต้องแสดงหลักฐานเพื่อใช้สิทธิ์
มีคำสั่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงคณบดีทุกคณะ แจ้งประกาศการไปลงประชามติ และวิธีการ ขั้นตอนต่างๆ ออกในวันที่ 13 มิ.ย.
วันที่ 19 มิถุนายน ข่าวมหาวิทยาลัย ระบุว่า ผลประชามติเป็นไปเพื่อหยั่งเสียงประกอบเป็นข้อมูลการนำเสนอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image