ขึ้นแบล็คลิสต์หน่วยจัดหัวหมอ ใช้ช่องโหว่คูปอง ขายหลักสูตรเอง แถมเสนอใบอบรมย้อนหลัง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนและได้หารือกับนายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ในฐานะดูแลสถาบันคุรุพัฒนาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน กรณีที่ได้รับแจ้งจากนายสงกรานต์ จันทร์น้อย ครูโรงเรียนพัทลุง จ.พัทลุงว่ามีหน่วยจัดบางแห่งอาศัยช่องโหว่ของโครงการคูปองพัฒนาครู ที่สถาบันคุรุพัฒนาเปิดให้หลักสูตรรายรุ่นที่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนาแล้ว สามารถที่จะเลือกส่งหลักสูตรเข้าสู่ระบบช็อปปิ้งของสพฐ.หรือไม่ก็ได้ กรณีเลือกไม่ส่ง ก็เพื่อเปิดช่องให้ครูในสังกัดอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สามารถเลือกอบรมได้

“โดยปกติหลักสูตรที่หน่วยจัดเสนอ จะต้องผ่านการพิจารณาจากทั้งสถาบันคุรุพัฒนาและสพฐ. แต่เหตุการณ์ที่เกิดกับหน่วยจัดรายนี้ หลังจากที่หลักสูตรผ่านการรับรองจาก 2 หน่วยงานแล้ว จึงมีชื่ออยู่ในระบบจองของสพฐ. แต่หน่วยจัดรายนี้ต้องการเปิดรุ่น จึงเสนอให้สถาบันคุรุพัฒนาพิจารณารุ่น จากนั้นหน่วยจัดจะต้องติ๊กในระบบว่าจะส่งรุ่นของหลักสูตรเข้าสู่ระบบช็อปปิ้งของสพฐ.หรือไม่ ซึ่งหน่วยจัดรายนี้เลือกที่จะติ๊กเข้าสู่ระบบคูปองในรุ่น 001 แต่เลือกไม่ติ๊กในรุ่น 002 ทำให้ชื่อของหลักสูตรอยู่ในระบบจอง คือ 4,700 บาท แต่หน่วยจัดกลับไปเปิดไลน์กลุ่ม เชิญชวนครูที่จองหลักสูตรไว้แล้ว ให้มาสมัครกับหน่วยจัดโดยตรง พร้อมทั้งให้ครูไปชวนเพื่อนๆ มาด้วย โดยเสนอแพ็คคู่ 9,000 บาท เพื่อให้ได้ชั่วโมงการอบรมเยอะๆ เพราะจะเชื่อมโยงกับการยื่นขอวิทยฐานะ 12-20 ชั่วโมง อีกทั้งเสนอว่าจะออกใบย้อนหลังการอบรมของปี 2560 ให้ด้วย ทำให้ครูบางคนหลงเชื่อ โอนเงินไปแล้ว” นางเกศทิพย์กล่าว

ผอ.สพค. กล่าวต่อว่า จากการหารือกับก.ค.ศ.และสถาบันคุรุพัฒนาเห็นตรงกันว่าทำไม่ถูกต้อง เป็นการอาศัยช่องโหว่ของระบบ ฉะนั้นสถาบันคุรุพัฒนาจะตักเตือนและแบล็คลิสต์ไม่ให้หน่วยจัดเสนอหลักสูตรมาอีก ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ได้มีแค่หน่วยจัดหน่วยนี้ ดังนั้นฝากถึงเพื่อนครูถ้าพบเจอลักษณะนี้อีกขอให้แจ้งมาที่สพฐ. ก.ค.ศ.หรือสถาบันคุรุพัฒนาเพื่อตรวจสอบ ส่วนครูที่ไม่ได้อบรมเมื่อปี 2560 ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดของครู แต่เกิดจากการยกเลิก 122 หลักสูตรของหน่วยจัด ตนได้พูดคุยกับเลขาธิการ ก.ค.ศ.ซึ่งเห็นด้วยในหลักการที่จะยกเลิกการอบรมปี 2560 เพื่อจัดอบรมชดเชยในปี 2561 แทนโดยอาจทำในรูปแบบออนไลน์แทน แต่ทั้งนี้จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ก.ค.ศ.ก่อน

ดร.เกศทิพย์ กล่าวต่อว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กำชับให้ตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและคุมคุณภาพให้ได้ ดังนั้นเร็วๆ นี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามการดำเนินการของหน่วยจัดว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ โดยจะเป็นบุคคลภายนอกที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทาม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image