ชี้ “มาตรา 67” ในร่าง รธน.โยง “พุทธ” เอี่ยวการเมือง ลิดรอนเสรีภาพนับถือศาสนาอื่น

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ นายกิตติชัย จงไกรจักร ผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในการเสวนาเรื่อง “มองรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิในเรื่องศาสนา” จัดโดยมูลนิธิพุทธสาวิกา มีภิกษุ ภิกษุณี และพุทธศาสนิกที่สนใจร่วมฟังการเสวนา ประมาณ 50 คน ว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนตัวเห็นว่ารัฐไม่ควรมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ควรให้การนับถือศาสนาเป็นไปตามสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล และรัฐควรปกป้องภิกษุณีทุกรูปให้มีเสถียรภาพตามกฎหมาย ดังนั้น รัฐจะเลือกอุปถัมภ์ศาสนาใดศาสนาหนึ่งไม่ได้ เพราะอาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 ได้รับรองการนับถือศาสนาโดยให้เสรีภาพแก่ปวงชนชาวไทย จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2492 เพิ่มวรรค 2 ระบุว่า บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง รัฐจะกระทำการอันเป็นการลิดรอนสิทธิเพราะเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนาไม่ได้ ตรงนี้เป็นการรับรองว่า ประเทศไทยมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัดวรรค 2 ซึ่งเป็นเหมือนรั้วป้องกันสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาออกไป จึงห่วงว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะเกิดปัญหาหรือไม่

นายกิตติชัยกล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในมาตรา 67 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ระบุว่า ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และเผยแผ่หลักธรรมของพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญานั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่รัฐจะเน้นให้การอุปถัมภ์เฉพาะนิกายเถรวาท ซึ่งไม่ได้เลือกปฏิบัติแค่ศาสนาเท่านั้น แต่เลือกปฏิบัติไปถึงศาสนาพุทธนิกายอื่นๆ ที่จะไม่ได้รับการรับรอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image