เปิดผลศึกษาแหล่งถลุงเหล็กบ้านโฮ่ง พบเกิดก่อนยุคหริภุญไชย เก่าสุดในล้านนา

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยผลสรุปเบื้องต้นการศึกษาทางโบราณคดีเตาถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป๋วย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดย นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ และนางสาวชิดชนก ถิ่นทิพย์ ผู้ช่วยนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดังนี้ บทความนี้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่แหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป๋วย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษารูปแบบเตาถลุงเหล็ก และวิเคราะห์เทคนิคการถลุงเหล็ก ของแหล่งถุลงเหล็กโบราณบ้านป่าป๋วย 2. เพื่อศึกษาอายุสมัยของแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป้วยแบบสัมบูรณ์ ( Absolute Dating) โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งเสนอคำอธิบายถึงคุณค่าและความสำคัญของแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป๋วย

ผลการศึกษาพบว่า เตาถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป่วย มีรูปแบบสันนิษฐานเป็นเตาถลุงรูปแบบทรงกระบอกตรงมีผนังสูง (Shaft Furnace) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 – 1.30 เมตร สูงประมาณ 1.8 – 2 เมตร เป็นเตาก่อด้วยการปั้นดินเหนียวทรงสูงคล้ายปล่องไฟ มีช่องสอดท่อลมและช่องดูสีไฟใช้ร่วมกันอยู่บริเวณส่วนฐานของเตา มีการขุดหลุมดักตะกรัน (Slag Pit) ทรงกรวยไว้ภายในเตา ส่วนเทคนิคการถลุงเหล็กที่เตาถลุงโบราณบ้านป่าป๋วย จากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานได้ว่า เป็นการถลุงเหล็กตามกระบวนการทางตรง (Direct Iron Smelting Process) คือ การถลุงโดยใช้ถ่านและอากาศเติมความร้อนให้กับแร่เหล็ก ทำให้ธาตุเหล็กแยกจากธาตุอื่นๆ และจับตัวเป็นกลุ่มก้อนเหล็ก (Iron Bloom) บริเวณก้นเตาถลุง

Advertisement

ในส่วนของการศึกษาค่าอายุสมัยของแหล่ง โดยการเก็บตัวอย่างถ่านในก้อนตะกรัน (Slag) ก้นเตาถลุง จากชั้นทับถมทางโบราณคดีชั้นแรกสุดและชั้นสุดท้ายก่อนทิ้งร้าง ไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometry (AMS) Dating พบว่ามีค่าอายุระหว่าง 1,464 – 1,423 ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการถลุงเหล็กที่แหล่งโบราณคดีบ้านป่าป๋วย เกิดขึ้นระหว่างครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 11 – ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 12 ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐหริภุญไชย ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14

การวิเคราะห์ร่วมกับบริบทพัฒนาการทางสังคมพบว่า แหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป๋วย มีอายุสมัยอยู่ในช่วงสมัยเหล็กตอนปลาย หรือสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของดินแดนล้านนา ร่วมสมัยกับร่องรอยชุมชนโบราณในพื้นที่ราบลุ่มน้ำกวง ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และแหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งฐานพบหลักฐานเครื่องมือเหล็กในรูปแบบต่างๆ การศึกษาแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านป่าป๋วย จึงถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคม ผู้คน และความก้าวหน้าทางด้านงานโลหกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานการเกิดบ้านเมืองระดับรัฐ อย่างเมืองหริภุญไชย (พุทธศตวรรษที่ 13-14) และเมืองเชียงใหม่ (พุทธศตวรรษที่ 19) ในช่วงเวลาต่อมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image