‘ผอ.สพท.-ศธจ.’ปะทะเดือด หลังแก้คำสั่ง คสช. 19/60 ‘ล้มเหลว’!!

รอยร้าวระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ส่อเค้าบานปลายจนยากจะประสาน…

เมื่อการขอแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ส่อเค้าเป็นหมัน!!

ด้วยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ชมรมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ช.ผอ.สพท.) นำโดย นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธาน ช.ผอ.สพท. พร้อมด้วย นายทวี ทะนอก ผอ.สพป.สมุทรสาคร นายสุวิทย์ มุกดาภิรมย์ ผอ.สพป.ลำพูน เขต 1 และ นายพีรพงศ์ สุรเสน ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 ได้เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบความคืบหน้าการแก้ไขข้อ 13 แห่งคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 หลังจากที่ ศธ.เสนอรัฐบาลให้แก้ไขตั้งแต่เดือนมกราคม 2561

แต่นายวิษณุให้คำตอบทำนองว่า การแก้ไขคำสั่ง คสช.ค่อนข้างยาก และเสนอแนะให้ใช้ช่องทาง “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)” แทน กล่าวคือ ให้เสนอข้อกฎหมายเพื่อแก้ไขแนวปฏิบัติที่เป็นปัญหาไปยัง กอปศ. และรัฐบาลจะรับร่างกฎหมายที่เสนอขึ้นมาจาก กอปศ.มาพิจารณา

Advertisement

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ที่หลังจากใช้คำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ก็เกิดข้อขัดแย้งในทางปฏิบัติระหว่าง ศธจ.กับ ผอ.สพท.และโรงเรียนมาโดยตลอด ผอ.สพท.และ ผอ.โรงเรียนมองว่าคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ชุดที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ติดหล่มงานบริหารบุคคล การขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เชิงบูรณาการไม่ได้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการมี ศธจ. ก็เป็นความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะที่ ศธจ.มองว่า ศธจ.และ กศจ.เพิ่งตั้งไข่ จึงยังควรให้เวลา ศธจ.และ กศจ.ปฏิบัติงานและที่สำคัญ ศธจ.ช่วยถ่วงดุล ผอ.สพท. ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ความไม่ลงรอยกันระหว่าง 2 ฝ่าย ทำให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตัดสินใจเสนอรัฐบาลแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 โดยมีเนื้อหาเป็นไปตามที่ ผอ.สพท.และ ศธจ.เห็นชอบร่วมกัน

นั่นคือ คืนการใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) และ (4) ให้แก่ ผอ.สพท.และ ผอ.ร.ร. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล ให้ ศธจ.เป็นผู้แทน ศธ.ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัด โดยจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมี ผอ.สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสัดส่วนเท่ากับ ผอ.สพท. และผู้แทนจากส่วนต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สพท.เป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(4) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ส่วน ศธจ.ทำหน้าที่เลขานุการ กศจ.

Advertisement

นพ.ธีระเกียรติเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พิจารณาแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ไปเมื่อเดือนมกราคม 2561 จวบจนปัจจุบันย่างเข้าสู่เดือนที่ 7 แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า ที่ผ่านมากฤษฎีกาและนายวิษณุเรียก ศธ.เข้าชี้แจงหลายครั้ง ขณะที่ ศธ.ก็ดึงคำสั่ง คสช. กลับมาแก้ไขตามที่กฤษฎีกาเสนอแนะไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง แต่เรื่องก็ยังเงียบ นำมาสู่ ช.ผอ.สพท.เข้าพบนายวิษณุเพื่อทวงถามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา!!

ไม่แค่นั้นล่าสุด กศจ.นครราชสีมาได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมาเสนอขึ้นมาตามลำดับ ให้ชงคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน พิจารณาย้ายนายพีรพงศ์ สุรเสน ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 ออกจากพื้นที่ จ.นครราชสีมา และแว่วว่าเรื่องนี้รู้ถึง นาย
บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แล้ว!!

กศจ.นครราชสีมาเห็นชอบให้ชงคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ย้ายนายพีรพงศ์ออกจาก จ.นครราชสีมา โดยยกเหตุผลเรื่องที่นายพีรพงศ์ไม่ให้ความร่วมมือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมาในการเข้าตรวจสอบโรงเรียนสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 7 ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ตามที่สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือถึงสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 แต่นายพีรพงศ์ให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือตอบกลับไปว่า

1.ให้ ศธจ.นครราชสีมาประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

2.ให้ สพฐ.ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชา แจ้ง สพป.นครราชสีมา เขต 7

3.ให้ สพป.นครราชสีมา เขต 7 ดำเนินการตามที่ สพฐ.สั่งการ

“การไม่ให้ความร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา และสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ในครั้งนี้ของนายพีรพงศ์ ทำให้การปฏิบัติงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ข้อ 5 (3) (4) (5) (6) และข้อ 8 (5) ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันอาจส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายให้กับทางหน่วยงานราชการ ตลอดจนการสร้างความรักสามัคคีในการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อย่างมีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด จึงเห็นควรนำเสนอ กศจ.นครราชสีมาเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯต่อไป”

เป็นที่มาของมติ อกศจ.นครราชสีมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่เห็นชอบให้เสนอ กศจ.นครราชสีมา และคณะกรรมการขับเคลื่อนฯตามลำดับ เพื่อพิจารณาย้ายนายพีรพงศ์ออกจากนครราชสีมา พร้อมเสนอพฤติกรรมของนายพีรพงศ์ให้ที่ประชุมพิจารณาประกอบ ดังนี้

1.การแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน กศจ.นครราชสีมา ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 และลงเผยแพร่ภาพต่อต้านในสังคมออนไลน์

2.การไม่ให้ความร่วมมือในการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 7 ครั้งที่ 1/2560 (1 ตุลาคม 2559-31 มีนาคม 2560) และครั้งที่ 2/2560 (1 เมษายน 2560-30 กันยายน 2560) ซึ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาเดียวที่ได้รับเงินเดือนล่าช้า ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดได้รับความเดือดร้อน

3.การไม่ส่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลการบริหารงานบุคคลเพื่อชี้แจงต่อที่ประชุมทำให้ส่งผลเสียต่อการพิจารณาของ อกศจ.นครราชสีมาและ กศจ.นครราชสีมา โดยอ้างว่าสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

4.การบันทึกปฏิเสธการเชิญเป็นเกียรติประดับเครื่องหมายอินทรธนูแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่ พร้อมทั้งบันทึกปฏิเสธการเยี่ยมเพื่อสร้างเครือข่ายของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งเผยแพร่ภาพในสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดภาพความไม่สามัคคีในการบริหารจัดการศึกษาใน จ.นครราชสีมา ในขณะที่อีก 7 เขตพื้นที่ฯกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

5.การดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาทางวินัยร้ายแรง ที่เกินกำหนดระยะเวลาซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ถูกดำเนินการทางวินัย ไม่ทำคำสั่งลงโทษทางวินัยและไม่ให้ข้อมูลกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ไม่สามารถออกคำสั่งลงโทษทางวินัยได้

6.การไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 4 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งประสานมากับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา

นำมาสู่ กศจ.นครราชสีมามีมติเห็นชอบให้เลขานุการ กศจ. จัดทำรายละเอียดเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ พิจารณาย้ายนายพีรพงศ์ออกจากพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อให้การดำเนินงานของ กศจ.และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมาได้สนองตอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560

เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม สร้างบรรยากาศแห่งความรักสามัคคีในการปฏิบัติงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไป

ขณะที่นายพีรพงศ์ได้โต้กลับว่า

1.ศธจ.กล่าวหาว่าผมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน

ข้อเท็จจริง คือ ผมไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ไม่จำเป็นต้องคิดค้นสัญลักษณ์ เป็นเพียงเสนอให้มีการแก้ไขยกเลิกข้อ 13 แห่งคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เท่านั้น เนื่องจากเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ความในข้อ 13 เกิดความเสียหายต่อการบริหารจัดการของเขตพื้นที่ฯ ซึ่งท่านรับทราบดีอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องการให้แก้ไขยกเลิกเพื่อให้งานการบริหารจัดการดีขึ้น และถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผม

2.ศธจ.กล่าวหาว่า ผมไม่ให้ความร่วมมือในการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูในสังกัด

ข้อเท็จจริง คือ ผมพิจารณาเลื่อนเงินเดือนตามกฎคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน และตามหนังสือสั่งการและตามปฏิทินตามที่ สพฐ.กำหนดโดยเคร่งครัด กล่าวคือ ผมพิจารณาเลื่อนเงินเดือน เมื่อครบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป (ไม่ทำเดือนมีนาคม ตามที่ ศธจ.สั่งการ) และพิจารณาเลื่อนเงินเดือนครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป (ไม่ทำเดือนกันยายน ตามที่ ศธจ.สั่ง) ซึ่ง สพป./สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เกินร้อยละ 90 ก็ทำเหมือนผม และหากผมทำไม่ถูกต้อง เหตุใดในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ครั้งที่ 1/2561 (ครั้งล่าสุด) ทุก สพป./สพม.ใน จ.นครราชสีมา รวมถึง กศจ.จึงต้องกลับมาปฏิบัติเหมือน สพป.นครราชสีมา เขต 7 ปฏิบัติ แสดงว่าผมทำถูกต้องแล้ว ส่วนเรื่องเงินเดือนครูที่ได้รับล่าช้านั้น ล่าช้าเพียง 1 เดือน และทุกคนได้รับตกเบิกทั้งสิ้น ซึ่ง สพป./สพม.ส่วนใหญ่ก็ได้รับเงินเดือนพร้อมกับครู สพป.นครราชสีมา เขต 7 ไม่มีผู้ใดเดือดร้อนเสียหายแต่อย่างใด

3.ศธจ.กล่าวหาว่า ผมไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจง อกศจ./กศจ. ทำให้เป็นผลเสียต่อการบริหารงานบุคคล

ข้อเท็จจริง คือ สพป.นครราชสีมา เขต 7 ส่งเจ้าหน้าที่ (รวมถึงรอง ผอ.สพป.และ ผอ.กลุ่มบริหารงานบุคคล) ไปทุกครั้ง นับแต่มี อกศจ./กศจ. โดยไปประชุมแต่เช้าและกลับถึงเขตมืดค่ำทุกครั้ง ตรวจสอบได้จากหนังสือสั่งการที่ผมเกษียนบันทึกการประชุมของ อกศจ./กศจ. พยานบุคคลอีกมากมาย รวมทั้งพนักงานขับรถที่ไปรับ-ส่งเจ้าหน้าที่ หากไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปประชุมจริง งานอื่นๆ เช่น เลื่อนวิทยฐานะ งานบรรจุแต่งตั้ง ฯลฯ ย่อมเดินหน้าไม่ได้ แต่ปรากฏว่างาน สพป.นครราชสีมา เขต 7 ทำได้ดีมาก ท่านสามารถสอบถามได้จากครู/ผู้บริหารทุกคน

4.ศธจ.กล่าวหาว่า ผมปฏิเสธเข้าร่วมงานประดับอินทรธนูครูบรรจุใหม่

ข้อเท็จจริง คือ ครูบรรจุใหม่ทุกคนล้วนเป็นข้าราชการ สังกัด สพฐ.ทั้งสิ้น ควรให้ผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมายดำเนินการในเรื่องนี้

5.ศธจ.กล่าวหาว่า ผมดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาวินัยร้ายแรงล่าช้า

ข้อเท็จจริง คือ การดำเนินการทางวินัยต้องดำเนินการตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวน ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจน ผมให้แนวทางแก่นิติกร ซึ่งมีเพียงคนเดียวว่า เรื่องการดำเนินการทางวินัยทุกเรื่อง ต้องไม่นิ่ง ต้องมีการเคลื่อนไหวในการทำงานตลอด ซึ่งนิติกรปฏิบัติตามแนวทางนี้ืได้ดีมาก ปรากฏว่าบางเรื่องต้องหารือ สพฐ. และ สพฐ.ยังไม่ตอบข้อหารือ บางเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ซึ่ง ก.ค.ศ.ก็ยังไม่ได้สั่งการใดๆ แต่ทุกเรื่องเกิดขึ้นก่อนที่ผมจะมาดำรงตำแหน่งที่นี่ทั้งสิ้น การดำเนินการทางวินัยของ สพป.นครราชสีมา เขต 7 มิได้ล่าช้า เป็นไปตามกระบวนการตามกฎ ก.ค.ศ. ฯลฯ

6.ศธจ.กล่าวหาว่า ผมไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 4

ข้อเท็จจริง คือ ศธจ.มีหนังสือถึง สพป.นครราชสีมา เขต 7 เนื้อหามีลักษณะเป็นการสั่งการของผู้บังคับบัญชา ผมจึงเกษียนในหลักการและมิให้ผู้ปฏิบัติสับสนว่า ใครคือผู้บังคับบัญชา จึงให้ ศธจ.ประสาน สพฐ. และให้ สพฐ.สั่งการ สพป.

อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมาสำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 4 ได้มีหนังสือในเรื่องนี้ถึง สพป.นครราชสีมา เขต 7 โดยตรง ซึ่งผมให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ในฐานะหน่วยงานราชการด้วยกัน ทั้งนี้ สพป.นครราชสีมา เขต 7 ได้ให้ความร่วมมือหน่วยงานอื่นๆ ด้วยดีเสมอมา สังเกตจากมีคณะมาศึกษาดูงาน ณ สวนเศรษฐกิจพอเพียง แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตร สพป.นครราชสีมา เขต 7 จำนวนหลายคณะ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคณะมาขอแข่งขันกีฬาและใช้สนามกีฬา สพป.นครราชสีมา เขต 7 อยู่เป็นประจำ เฉพาะสัปดาห์หน้าจะมีคณะมาศึกษาดูงานและแข่งขันกีฬาที่ สพป.นครราชสีมา เขต 7 จำนวน 2 คณะ

นายพีรพงศ์ ระบุด้วยว่า เบื้องต้นได้ชี้แจงเลขาธิการ กพฐ.ไปแล้ว ส่วนเรื่องที่ กศจ.นครราชสีมาเสนอย้ายนั้น มองว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล เป็นการใช้อำนาจเกินไป เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ทั้งนี้การเสนอย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศนับแต่มีคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 และหวั่นว่าถ้าทำสำเร็จจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ กศจ.อื่นๆ เอาเรื่องนี้ไปขู่บ้าง

ด้าน นายธนชน ในฐานะประธาน ช.ผอ.สพท.ระบุว่า ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ เพราะจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว กระทบความรู้สึก ผอ.สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน จะได้ไม่คุ้มเสีย ไม่อยากเห็นความ
ขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่ การใช้ มติ กศจ.มาเสนอย้าย ผอ.เขตพื้นที่ฯ โดยอาศัยคณะกรรมการขับเคลื่อนฯเป็นเครื่องมือ คงได้รับความร่วมมือจาก ผอ.เขตพื้นที่ฯยาก จริงๆ แล้วควรให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด คือเลขาธิการ กพฐ.เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ

“กศจ.จะไปเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯย้าย ผอ.เขตพื้นที่ฯ หรือผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อสร้างความหวาดกลัว ชมรมและสมาคมเราก็ไม่เห็นด้วย ควรเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาโดยตรง” นายธนชนระบุ

จากนี้อุณหภูมิการปะทะกันระหว่าง ผอ.สพท.และ ศธจ. น่าจะร้อนแรงมากขึ้น เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2561 แกนนำ ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมนักบริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้แทน ชร.ผอ.สพท. และผู้แทนประธานคลัสเตอร์ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้หารือร่วมกันและมีมติที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการลาออกจาก กศจ.และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ดีเดย์เริ่มเดือนสิงหาคมนั้น พร้อมกันนั้นจะสะท้อนปัญหาจากคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 หลังใช้มากว่าปีเศษผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ

ทางออกอาจต้องถอยคนละก้าว และหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้งานปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ถ้ายังดันทุรังโดยยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง เด็กและประเทศชาติจะกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งหรือไม่ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image