วิกฤตหนัก!! ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 13 โรง หลังขาดแคลนน.ร. แถมครูทิ้งร.ร.เอกชน

ศุภเสฏฐ์ คณากูล

วิกฤตหนัก!! ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 13 โรง หลังขาดแคลนน.ร. แถมครูทิ้งร.ร.เอกชน ไปสอบครูผู้ช่วยร.ร.รัฐ สช.ชงสำนักงบฯ อุดหนุนอาหารกลางวัน 100% รมว.ศธ.สั่งตั้งคณะทำงานศึกษาเงินอุดหนุนรายหัวน.ร.เอกชน

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงเรียนเอกชนออกมาร้องเรียนถึงปัญหานักเรียนลดลง เด็กถูกแย่งไปเรียนโรงเรียนรัฐบาล ไม่มีงบประมาณที่จะจ้างครูทำให้เลิกจ้างไปจำนวนมาก ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งปิดตัว เลิกกิจการ ยุบรวมกิจการ ว่า จากปัญหาทั้งหมด ส.ปส.กช.ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการ “การศึกษาเอกชนกับการปฏิรูประบบการศึกษาไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรับฟังข้อมูลปัญหาของโรงเรียนเอกชนในแต่ละจังหวัด ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชน รวบรวมข้อเสนอแนะบางอย่างที่เป็นปัญหา จัดทำเป็นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยพิจารณาให้การช่วยเหลือ ดังนี้ 1.สิทธิของผู้เรียนที่เป็นคนไทย ประกอบด้วย การจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการเรื่องโครงการอาหารกลางวัน และการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินการเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน 2.สิทธิของครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชนที่เป็นคนไทย และ 3.ปัญหาของการบริหารโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วยการรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปีบริบูรณ์) และนโยบายความจุห้องเรียนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

นายศุภเสฏฐ์กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ที่ทาง ส.ปส.กช.กับสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จัดส่งไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งหนังสือฉบับนี้ส่งถึง พล.อ.อ.ประจินเรียบร้อยแล้ว และ พล.อ.อ.ประจินทำหนังสือสั่งการมาที่สำนักงานปลัด ศธ.เพื่อจัดการเรื่องที่ร้องเรียน อีกทั้งสั่งการมาที่ ส.ปส.กช.ให้รวบรวมข้อมูลนักเรียนที่ค้างค่าธรรมเนียมการเรียน ที่ปัจจุบันพบปัญหา คือ มีนักเรียนค้างค่าเทอมกว่า 90% ถือว่าค้างเยอะมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะผู้ปกครองไม่มีกำลังจ่าย แต่ยังเชื่อมั่นในคุณภาพของโรงเรียนจึงไม่ยอมให้บุตรหลานลาออก โรงเรียนจึงรับภาระแทน ทาง ส.ปช.กช.จึงรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เสนอเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มี พล.อ.อ.ประจินเป็นประธาน เพื่อให้ช่วยเหลือนักเรียนต่อไป และด้าน นพ.ธีระเกียรติได้เร่งรัด สช.ให้ดำเนินการช่วยเหลือ 2 เรื่องด้วยกันคือ การจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวัน และการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว กับนักเรียนเอกชนให้ได้ 100% เท่านักเรียนโรงเรียนรัฐบาล

“ความคืบหน้าการช่วยเหลืออุดหนุนเงินอาหารกลางวันนักเรียนเอกชนให้ได้ 100% ขณะนี้ สช.รวบรวมข้อมูลเสนอต่อสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบให้งบประมาณ หากเห็นชอบสามารถเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันเดือนสิงหาคม ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนรายหัว รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และประเภทอาชีวศึกษา โดยมีนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธาน จัดทำแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคล ศึกษาอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสม และวางแผนขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมหารือกัน” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

Advertisement

นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ส่วนภาพรวมโรงเรียนเอกชนตอนนี้ เปิดเทอมมาได้หลายเดือนแล้ว สถานการณ์เริ่มนิ่ง ไม่มีเด็กลาออกเหมือนตอนต้นเทอมแล้ว แต่ปัญหาใหม่คือ เรื่องของครูผู้สอน ขณะนี้มีการสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ที่กำหนดสอบในเดือนสิงหาคม ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งมีครูลาออกเพื่อเตรียมสอบครูผู้ช่วยจำนวนมาก และถ้าครูเหล่านี้สอบติด ต้องลาออกเข้าไปในทางเลือกที่ดีกว่าแน่นอน โรงเรียนรับภาระคือต้องหารีบครูใหม่เข้ามาสอนแทน ถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างมาก

“ส่วนเรื่องโรงเรียนเอกชนปิดตัวไปตอนนี้มีจำนวนเท่าไรนั้น ผมได้รับข้อมูลยืนยันจากกองทะเบียน สช. มีประมาณ 12-13 โรงเรียน แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลยังเป็นลักษณะกระจายตัว ยังไม่ได้รวบรวมครบถ้วน คาดว่ามีมากกว่านี้ ต้องรอให้ทุกจังหวัดแจ้งข้อมูลเข้ามาให้ครบถ้วนจึงจะทราบจำนวนที่แท้จริง และแน่นอนว่าสภาพปัญหาที่โรงเรียนเผชิญอยู่มีแนวโน้มปิดตัวลงมากขึ้น” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

นายก ส.ปส.กช.กล่าวอีกว่า การยกเลิกกิจการ หรือการปิดตัวลงของโรงเรียนเอกชนนั้น มีปัจจัยหลายอย่าง ไม่เพียงแค่เรื่องจำนวนนักเรียนลดลง ยังมีปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่าย โรงเรียนเอกชนต้องเสียภาษีโรงเรือน อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยเข้มงวดกวดขันการจัดเก็บภาษีมาก จากเดิมโรงเรียนบางแห่งเคยเสียภาษีหลักแสนบาท กลับขึ้นภาษีมาเป็นหลักล้านบาท โรงเรียนเอกชนบางแห่งก็รับสภาพไม่ไหว จึงอยากขอให้ช่วยเหลือจุดนี้ด้วย เช่น ยกเว้นภาษีหรือให้จ่ายในอัตราภาษีที่ต่ำ อีกทั้งโรงเรียนบางแห่งเช่าที่ดินและในลักษณะเขียนสัญญากับเจ้าของที่ 10 ปีขึ้นไป เมื่อใกล้หมดสัญญา เจ้าของกลับแจ้งว่าไม่ให้เช่าต่อ โดยจะใช้ที่ดินโรงเรียนไปทำศูนย์การค้า หรือทำอย่างอื่นที่ได้ผลประโยชน์มากกว่า โรงเรียนต้องแก้ปัญหาโดยย้ายนักเรียนไปเรียนที่อื่น แต่ส่วนใหญ่ยุบโรงเรียนและปิดกิจการไป หรือแม้ว่าโรงเรียนจะเป็นเจ้าของที่ดิน กลับเอาที่ดินของโรงเรียนเข้าจำนองธนาคาร เพื่อนำเงินพัฒนาโรงเรียน และเรื่องการจ้างครู ที่โรงเรียนหาบุคคลที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ยาก ค่าใช้จ่ายเงินเดือนครูโรงเรียนต้องจ่ายเอง รัฐบาลอุดหนุนไม่เต็มที่ จนต้องเรียกเก็บค่าเทอมกับเด็กและผู้ปกครอง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนเอกชนปิดตัวลง

Advertisement

“อย่างไรก็ตามภาพรวมของการช่วยเหลือที่ได้รับจากภาครัฐถือว่าดีมาก คิดว่ารัฐบาลช่วยเหลือเต็มที่ เพียงแต่ว่าระบบราชการอาจจะช้า ไม่ทันการณ์ ตอนนี้ได้แต่พูดคุยกับโรงเรียนเอกชนทุกแห่งว่าอย่าลงทุนสร้างอาคาร หรือสร้างอะไรเพิ่มเติม ต้องลงทุนไปที่การศึกษา ทำการศึกษาให้มีคุณภาพดีกว่า เพื่อให้เป็นอาวุธที่ทำให้โรงเรียนเอกชนสามารถสู้โรงเรียนของรัฐบาลได้” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

นายณัฐวุฒิ ภารพบ อุปนายก ส.ปส.กช. และผู้อำนวยการโรงเรียนอำมาตย์พิทยานุสรณ์ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์โรงเรียนเอกชนตอนนี้ จำนวนนักเรียนถือว่านิ่งแล้ว ไม่มีลาออกเพิ่ม แต่มีนักเรียนเข้ามาเพิ่มบ้าง สาเหตุที่กลับเข้ามาเรียนเพราะไปเรียนโรงเรียนภาครัฐ แล้วจำนวนคนเยอะ เรียนไม่รู้เรื่อง ส่วนชั้นอนุบาล มีบางส่วนที่ย้ายไปศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ไม่ได้รับความสะดวกสบายและไม่ได้รับความเอาใจใส่ จึงย้ายเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเอกชนดังเดิม

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ส่วนโรงเรียนเอกชนจะเลิกกิจการมากขึ้นหรือไม่ เห็นว่าโรงเรียนที่จะเลิกกิจการต้องเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลเพียงอย่างเดียว ถ้ามีเด็กอนุบาลเข้าเรียนน้อย โรงเรียนเหล่านี้อาจจะเลิกกิจการได้ แต่ถ้าโรงเรียนไหนมีทั้งระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไม่มีความเสี่ยงปิดตัวแน่นอน แต่เพื่อให้อยู่รอดโรงเรียนเอกชนต้องปรับตัว ให้ทำงานวิชาการให้เข้มแข็ง เอาใจใส่นักเรียน คาดว่าสักระยะจะมีนักเรียนกลับเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐมีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ อาหารกลางวันที่ไม่ได้รับอุดหนุน 100% เหมือนกับนักเรียนโรงเรียนภาครัฐ การเสียภาษีที่โรงเรียนเอกชนต้องจ่ายเป็นจำนวนมาก เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรียน เป็นต้น

“ตอนนี้โรงเรียนผมประสบปัญหาการขึ้นราคาค่าเช่าที่ดินใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) จากเดิมที่ต้องจ่ายปีละ 2,000 บาท กลับถูกขึ้นราคาเป็นเดือนละ 28,000 บาท ตกปีละ 336,000 บาท ซึ่งถือว่าขึ้นราคาเยอะมาก จึงอยากขอความเมตตาให้ช่วยเหลือ เราเช่ามาตั้งแต่ปี 2511 และเมื่อขึ้นค่าเช่ากลับไม่แจ้งล่วงหน้า กลายเป็นว่าโรงเรียนผมต้องรับภาระเพิ่มขึ้น รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมได้อุทธรณ์เรื่องนี้กับ พศ. และอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว ขณะนี้รอคำตอบจากทั้งสองทาง ถ้าเดือนละ 10,000 บาท ผมยังสู้ไหว แต่ตอนนี้จำนวนเงินเยอะเกินไป เกรงว่าต่อไปผมสู้ราคาไม่ไหว” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัญหาที่โรงเรียนเอกชนเผชิญอยู่ตอนนี้ ส.ปส.กช.และสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จัดทำข้อร้องเรียนเป็นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ พล.อ.อ.ประจิน และ นพ.ธีระเกียรติ ทราบแล้ว เชื่อมั่นว่าทั้งสองท่านพยายามหาวิธีแก้ปัญหา และไม่ทอดทิ้งโรงเรียนเอกชนแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image