ก.ค.ศ. เร่งปรับปรุงกฎหมาย คืนอำนาจบริหารงานบุคคลให้ต้นสังกัด

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นพ.ธีระเกียรติ   เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  ว่า ที่ประชุมหารือ กรณีที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ทั่วประเทศ ประกาศสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2561 ซึ่งหลังจาก กศจ.ประกาศรับสมัครครูผู้ช่วยประกาศรับสมัครไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  พบว่า  บางจังหวัดประกาศรับสาขาขาดแคลน นอกเหนือจากที่ก.ค.ศ.อนุมัติ  ซึ่งทางก.ค.ศ. ยืนยันจะไม่ประกาศเพิ่ม และให้แต่ละ กศจ. ไปประกาศรับสมัครใหม่  ตามที่ก.ค.ศ. อนุมัติ นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้กำหนดวิชาดนตรีสากล ประเภทวิชาหรือสาขาวิชาขาดแคลน ในการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ในจังหวัดนครสวรรค์  เนื่องทางจังหวัดเสนอมาแต่มีการตกหล่นไม่ได้นำเข้าก.ค.ศ.

“ก.ค.ศ.ไม่ได้มีการแก้มติประกาศสาขาขาดแคลน เพราะได้มีการหารือกับ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และก.ค.ศ.อนุมัติแล้ว ดังนั้นใครที่แจ้งไม่ทันและจะให้ก.ค.ศ. ทบทวนมติคงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะผิดหลักการ โดยได้ให้จังหวัดที่ประกาศรับในสาขาขาดแคลนที่ไม่ได้แจ้ง  ไปประกาศใหม่ ให้เป็นไปตามที่ก.ค.ศ.อนุมัติ ”นพ.ธีระเกียรติกล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า  ที่ประชุมยังรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลการทางการศึกษา พ.ศ….  ซึ่งรัฐบาล มีนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลังจากประกาศใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับก.ค.ศ. คือ ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ซึ่งใช้มานานกว่า 14 ปี  โดยในอนาคต อำนาจการบริหารงานบุคคล อาทิ การสั่งบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน การกำหนดตำแหน่งวิทยฐานะครู  เป็นต้น   จะให้อยู่ในการกำกับดูแลของต้นสังกัด ทำให้การรวมศูนย์เรื่องการบริหารจัดการบุคลากรน้อยลง ขณะที่ในส่วนของก.ค.ศ. จะปรับบทบาท มาเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายและกระจายอำนาจไปให้หน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้วเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วย และจะมีการรับฟังความคิดเห็น อีก 2 ครั้ง  ก่อนสรุปประเด็นต่าง ๆ เสนอ ก.ค.ศ.เห็นชอบ จากนั้นเสนอให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนกันยายนนี้  โดย ผู้ที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดและแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ. ได้ทาง www.otepc.go.th และ www.lawmendment.go.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image