ครูต้องมีสติ หยุด ‘กู้หนี้’ มา ‘ใช้หนี้’

จากปัญหาหนี้สินครูที่เกิดขึ้น และเกิด “ปฏิญญามหาสารคาม” ที่ประกาศงดชำระหนี้ ทำให้ครูทั้งประเทศต้องตกเป็นจำเลยทางสังคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างนานา ถึงความไม่มีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตนั้น

ดร.เรืองยศ แวดล้อม ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญบริหารสถานศึกษา โรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคม บ้านบัวใหญ่ ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ให้ความเห็นว่า การที่เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย วันที่ไปเป็นหนี้เราก็ต้องมีความรู้ มีคุณธรรม มีความพอประมาณ มีเหตุผล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง

เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาต่อว่าครู ว่าครูหน้าใหญ่และไม่มีความรับผิดชอบ เอาปัญหาส่วนตัวมาก่อให้เป็นปัญหาส่วนรวม ทำให้ครูน้ำดีทั้งประเทศต้องเสื่อมเสียเพราะครูเพียงส่วนน้อยมาทำความประพฤติไม่ดีให้เด็กเห็น

ซึ่งมันทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตัวครู ขาดความเคารพนับถือ ลดความเคารพนับถือที่ควรจะมี ครูที่เป็นหนี้ เช่น เอาเงินไปฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม อย่างเช่นไปเที่ยว ไม่ดูความประมาณในตัวเอง และก็เอาเงินไปไม่มีเหตุผลในการใช้ ไม่รู้คุณค่าของเงิน ถ้าใช้แบบไม่ประมาณตน เงิน 1 แสนจะหมดภายใน 3 วันเท่านั้น

Advertisement

ครูส่วนใหญ่เขาต่อยอดนำเงินที่กู้ไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อที่ หรือนำไปทำหอพัก เปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ อันนี้คือส่วนหนึ่ง เขากู้แล้วมีช่องทาง กู้แล้วสามารถต่อยอด
เป็นธุรกิจเสริมได้

แต่ครูส่วนน้อย เอาเงินไปดื่ม ไปเที่ยว ไปสังสรรค์ ไปซื้อรถหรู ไปซื้อหวย ไปเล่นการพนัน แล้วเกิดปัญหาแก้ไม่ได้ กลับมาทำปัญหากับทั้งประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นมันขึ้นอยู่ที่ตัวครูเอง เป็นตัวบุคคล ไม่ใช่ครูทั้งประเทศ

จึงอยากฝากว่าครูที่มีปัญหา อย่ามาทำให้ครูน้ำดีทั้งประเทศต้องเสื่อมเสียและเสียหาย

ต้องรู้จักรับผิดชอบ ไม่ใช่มาป่าวร้องให้คนอื่นรับผิดชอบให้ตัวเอง

ขณะที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกระแสการประกาศปฏิญญามหาสารคาม ทำให้ภาพลักษณ์ของครูติดลบนั้น

แต่อยากให้มองที่แก่นแท้ของปัญหาซึ่งยืดเยื้อมานาน และการแก้ไขบางอย่างกลับทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น อย่างเช่น การให้กู้โดยพ่วงเงินประกันชีวิต ซึ่งแม้ครูจะรู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นธรรม

แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องยอม ขณะเดียวกัน แนวทางการแก้ไขปัญหายังไม่มีความต่อเนื่อง และไม่ลงไปถึงกลุ่มที่เป็นหนี้วิกฤตจริงๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1-5% อีกประเด็นที่อยากให้เร่งแก้ไข คือ อาชีพครูเป็นอาชีพที่สามารถกู้เงินได้ง่าย สถาบันการเงินต่างๆ พร้อมที่จะปล่อยกู้ โดยไม่พิจารณาสถานะทางการเงินให้เหมาะสม

ทำให้ครูกลายเป็นแหล่งหากินของสถาบันการเงินเหล่านั้น เพราะมีเงินเดือนให้หักดอกเบี้ยอยู่ตลอด

ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะต้องออกหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ที่รัดกุม ไม่ใช่ปล่อยกู้ง่ายเหมือนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยกับการประกาศไม่ใช้หนี้ของครู แต่อยากให้มองปัญหาอย่างรอบด้าน ด้วยความเข้าใจ เพราะอย่างไรคนเป็นหนี้ก็ต้องใช้

อาชีพอื่นก็เป็นหนี้ แต่ก่อนจะเป็นหนี้เราต้องคิดให้ดีถึงความจำเป็น รวมถึงดูความสามารถในการชำระหนี้ให้ดีด้วย

ไม่ใช่กู้จนตัวเองได้รับความเดือดร้อน สิ่งที่อยากเตือนครู คือต้องมีสติ กู้ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่กู้มาใช้ฟุ่มเฟือย หรือซื้อของ ซื้อรถ ไปเที่ยว ตามสังคมของครู ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง

รวมถึงอยากให้นึกถึงวิชาชีพครูที่ต้องสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี มีวินัย โตไปเป็นคนที่มีคุณภาพของประเทศ

แต่หากครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ ทำตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว ก็ควรต้องพิจารณาตัวเองว่าจะไปสอนใครได้อย่างไร

ด้าน นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เผยถึงปัญหาหนี้ครูว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการพยายามแก้ปัญหานี้มาตลอด แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ อันเนื่องมาจากหนี้ครูเป็นเรื่องส่วนบุคคล และจำนวนหนี้โดยภาพรวมทุกระบบมีจำนวนมหาศาล

เงินที่ครูกู้ยืมมาส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการซื้อที่ดิน บ้าน รถยนต์ หรือนำไปลงทุนในธุรกิจ ครูส่วนใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ เพราะครูมีเงินเดือนและเงินวิทยฐานะรวมกันค่อนข้างสูงเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้

ครูไม่ได้มีแต่หนี้ แต่มีทรัพย์สินที่เกิดจากการกู้หนี้ด้วย อาจมีเพียงส่วนน้อยที่ขาดวินัยทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้และส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน

การประกาศจะงดชำระหนี้ ช.พ.ค.ของครูนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ปลายเหตุ มีปฐมเหตุมาจากการที่ สกสค. และธนาคารออมสินเห็นช่องทางในการทำธุรกิจกับครู ที่มีเงินเดือนและวิทยฐานะค่อนข้างสูง

มีหลักประกันที่มั่นคงสามารถหักเงินเดือนในการผ่อนชำระได้ และยังร่วมกับบริษัทประกันภัยให้ครูทำประกันชีวิตในลักษณะที่เอารัดเอาเปรียบครู

ในขณะที่ครูเอง ในช่วงขอกู้ก็ไม่ได้ใส่ใจกับสัญญาดังกล่าวเท่าที่ควร พอส่งไปสักระยะจึงเห็นว่าหนี้ทำไมไม่ค่อยลด จึงเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันก็เพิ่งจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับธนาคารออมสิน และ สกสค. โดยได้ข้อสรุปว่าธนาคารออมสินจะลดดอกเบี้ยให้ครูในโครงการ ช.พ.ค.2-7 ระหว่าง 0.51-1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี

และ สกสค.ก็จะงดรับเงินค่าบริหารจัดการที่ธนาคารออมสินเคยหักให้ ปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาวงเงินนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ครูเห็นว่า สกสค.หากินกับครู และ สกสค.ได้ใช้เงินส่วนหนึ่งไปชำระคืนให้กับธนาคารออมสินให้แก่ครูที่ไม่ชำระหนี้ให้ธนาคารออมสิน ทำให้เกิดคำถามมากมายกับครูที่ชำระหนี้ตามปกติ

กรณีที่เรียกว่า ปฏิญญามหาสารคามŽ ที่ประกาศงดชำระหนี้ ช.พ.ค. นอกจากจะมีเหตุที่มาจากปัญหาการทำมาหากินของธนาคารและ สกสค.แล้วยังมีนัยยะทางการเมืองที่กำลังจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ส.ส.

ที่อดีตแกนนำครูบางส่วนเห็นช่องทางที่จะได้รับความนิยมจากครูทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมาก หากผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จจะทำให้ได้รับความนิยมเข้าสู่เวทีการเมือง โดยคิดไม่ถึงว่าจะมีปฏิกิริยาตีกลับอย่างรุนแรงจากสังคมและจากวงการครูด้วยกัน

ครูก็เป็นปุถุชน เป็นหนี้เหมือนคนทั่วไป ครูส่วนใหญ่มีวินัยทางการเงิน มีทรัพย์สินที่เกิดจากการเป็นหนี้ และสามารถใช้หนี้ได้ตามปกติ การเป็นหนี้ไม่กระทบการเรียนการสอนมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นปัญหา

ที่อยากฝากคือบรรดาหน่วยงาน องค์กรต่างๆ อาทิ สกสค. ธนาคาร และสหกรณ์ออมทรัพย์ ต้องเปลี่ยนระบบคิด (mindset) กับครูใหม่ อย่ามองเป็นเหยื่อของการทำธุรกิจแสวงหาผลกำไร ทำมาหากินบนพื้นฐานความต้องการของครู

ครูเป็นหนี้ก็หาช่องทาง หาโครงการใหม่มากระตุ้นให้ครูเป็นหนี้เพื่อไปใช้หนี้อีกไม่รู้จบ

หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาหนี้ครู รัฐบาลเพียงเข้ามากำกับติดตามสถาบันการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่สำคัญคือ สกสค.ไม่ให้มีโครงการเช่นนี้อีก หากแต่ควรหาช่องทางวิธีการ สนับสนุนให้ครูออมเงิน ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ

หยุดแก้ปัญหาด้วยการให้ครู กู้หนี้มาใช้หนี้Ž อีกต่อไป!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image