เสียงสะท้อน “คูปองครู” 1.4พันล. ”ไม่คุ้ม-เปิดช่องนักการเมืองหากิน”

หมายเหตุ “มติชน” – เข้าสู่ปีที่ 2 ของโครงการคูปองพัฒนาครู ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จัดสรรเงินให้ครูคนละ 10,000 บาท/ปี เพื่อเลือกช้อปปิ้งหลักสูตรอบรมตามที่ครูต้องการ โดยจะเชื่อมโยงกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งปีแรกพบปัญหาค่อนข้างมาก อาทิ ระบบการลงทะเบียนที่พบว่าหลายหลักสูตรถูกล็อกระบบ ทำให้ครูไม่สามารถเลือกอบรมในจังหวัดตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียงได้ มีครูไม่ได้อบรมกว่า 2.2 หมื่นคน เนื่องจาก 22 หน่วยจัดแจ้งยกเลิก 87 หลักสูตร เพราะไม่ได้ครูตามเป้าหมาย เป็นต้น โดยตลอดโครงการใช้งบประมาณจัดอบรมกว่า 1,400 ล้านบาท

มาปี 2561 สพฐ.นำประสบการณ์จากปีแรกมาปรับปรุง มีการจัดระเบียบใหม่โดยให้ครูบุ๊กกิ้งหรือจองหลักสูตรไว้ก่อน จากนั้นเขตพื้นที่ฯ ประสานหน่วยจัดให้มาจัดอบรมในเขตพื้นที่ฯ หรือภายในจังหวัดเพื่อไม่ให้ครูต้องเดินทางไกล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พัก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรม คาดการณ์ว่าใช้งบประมาณเท่ากับปีแรก คือ 1,400 ล้านบาท การดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนถึงความคุ้มค่าของโครงการตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นำมาสู่ สพฐ.ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการ “มติชน” ได้สัมภาษณ์เสียงสะท้อนจากครูที่เข้าอบรมถึงความคุ้มค่า และปัญหาอุปสรรคจากโครงการนี้ ซึ่งมีสาระน่าสนใจ ดังนี้

อัษฎาวุธ สุขสวัสดิ์ ครูโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จ.กาญจนบุรี

“ยอมรับว่า โครงการอบรมครูปีนี้พัฒนาดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระบบการรับสมัคร ซึ่งปี 2560 ค่อนข้างวุ่นวายและแย่มาก แต่ปี 2561 มีการพัฒนาระบบการจัดการดีขึ้น แม้ช่วงแรกของการรับสมัคร จะมีปัญหา แต่ก็สามารถแก้ไขได้ภายในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตามผมจะเข้าอบรมในรอบที่ 2 เดือนสิงหาคม 2561 แต่มีเพื่อนครู ที่อบรมในช่วงแรกสะท้อนผลการอบรมกลับมาว่า บางหลักสูตรได้รับความรู้ไม่เต็มที่ ซึ่งก็อาจไม่เป็นเช่นเดียวกันทุกหลักสูตร ขณะที่ได้ทราบข้อมูลมาว่า บางหลักสูตรสถานที่จัดอบรมไม่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า การอบรมครูจะมีประโยชน์มากหากเน้นอบรมเนื้อหาวิชาการที่ครูสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของครูด้วย เพราะครูส่วนใหญ่ ไม่ใช่สายวิชาการ ก็จะชอบการอบรมที่เบาๆ สบายๆ ในโรงแรมที่ดี ไม่เหนื่อยหรือหนักมาก ขณะที่ครูสายวิชาการ ก็อยากจะเน้นเนื้อหาความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งผลให้การประเมินว่า เงิน 10,000 บาทที่ใช้ในการอบรมจะคุ้มค่าหรือไม่ อาจจะสะท้อนคุณภาพการอบรมที่แท้จริงได้ยาก เพราะการประเมินจะเน้นสอบถามความคิดเห็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากหลักสูตรนั้นจัดสถานที่ดี สะดวกสบาย อาหารการกินดี ก็อาจได้รับคะแนนประเมินสูง ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกหลักสูตรที่อบรมจึงมีส่วนสำคัญในการคัดเลือกหลักสูตรที่เหมาะสม ที่มีทั้งเนื้อหาวิชาการและสถานที่ที่เหมาะสม”

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม การนำการอบรมไปผูกกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้ครูไม่มีทางเลือก ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องเข้าอบรม แต่ส่วนตัว มอง 2 ประเด็นคือ การผูกการอบรมกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการบังคับให้ครูเข้าอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหา หากพลาดการอบรมในปีนั้นๆ ไปก็อาจทำให้หมดสิทธิการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ สรุปภาพรวม ส่วนตัวเห็นว่า การจัดอบรมครู เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าหลายคนก็ชอบ แต่อนาคตอาจเกิดปัญหา หากระบบการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ และหากเปลี่ยนรัฐบาล โครงการนี้อาจเป็นช่องทางหากินของนักการเมือง ผ่านทางหน่วยจัดอบรม เพราะมีงบประมาณค่อนข้างมาก”

ออน กาจกระโทก กรรมการผู้ตรวจติดตามการอบรมพัฒนาครู ในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน

“เท่าที่ดูพบว่า การอบรมปีนี้ มีการพัฒนาดีมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยครูที่เข้าอบรมส่วนใหญ่ จะเป็นครูรุ่นใหม่ ส่วนครูรุ่นเก่า ค่อนข้างน้อย เหตุเพราะการอบรมไปผูกติดกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ดังนั้นครูรุ่นเก่าซึ่งใกล้เกษียณ จึงไม่ค่อยตื่นตัวเท่ากับครูรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรง ส่วนหลักสูตรการอบรม พบว่า มีทั้งหลักสูตรที่ดี มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสอนเด็กได้จริง ขณะเดียวกัน ก็ยังพบว่ามีหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ครูที่เข้าอบรมสะท้อนกลับมาว่า นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ได้น้อย แต่ที่ต้องมาอบรมเพราะผูกกับวิทยฐานะ ดังนั้นหลังการอบรมผ่านไปจะต้องมีการประเมินหลักสูตรในการจัดอบรมร่วมกัน เพื่อทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการ ปรับปรุงแก้ไข”

Advertisement

”อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการดำเนินการ เป็นไปในทางบวกมากกว่าปี 2560 แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง อย่างเช่น ที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งหน่วยจัดรวมค่าโรงแรม ผู้เข้าอบรมไว้ทั้งหมด แต่มีผู้เข้าอบรมไม่กี่คนที่มานอนโรงแรม ดังนั้นจึงได้มีการไปพูดคุยกับหน่วยจัดอบรมว่าหากทำเช่นนี้ เป็นการเอาเปรียบราชการ ซึ่งหน่วยจัดอบรมก็เข้าใจและได้ให้เงินคืนมา”

ชูเกียรติ ซื่อสัตย์ ครูโรงเรียนบ้านบุมะค่า (ชาวไร่สามัคคี) จ.นครราชสีมา

“ผมอบรมในหลักสูตรการพัฒนาการสอนฟุตบอลมืออาชีพ ซึ่งมีโค้ชระดับประเทศ มาอบรมให้อย่างเข้มข้น มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การวางแผนการสอน ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า โครงการอบรมของ สพฐ.มีประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการเรียนการสอน หากเต็ม 10 ผมให้ 10 และถือว่า คุ้มค่า โดยหลักสูตรนี้ค่าอบรม 5,200 บาท ทั้งนี้หลังการอบรมเสร็จสิ้น ยังมีการนัดหมายครูในโรงเรียนใกล้เคียงที่เข้าอบรมด้วยกันว่า จะนำเด็กในโรงเรียนมาร่วมจัดกิจกรรม ฝึกอบรม เข้าค่ายกีฬา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ”ส่วนที่นำการอบรมไปผูกกับวิทยฐานะนั้น ส่วนตัวไม่ติดใจ เพราะมองเห็นประโยชน์จากการอบรมที่จะนำไปใช้ในการสอนเด็กมากกว่า และเท่าที่ดูคนที่ใกล้เกษียณอายุราชการ บางคนที่เข้าร่วมอบรม เพราะอยากพัฒนาความรู้” ครูสอนภาษาไทย ม.ปลาย โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก”

“ดิฉันมาอบรมโครงการคูปองครูพัฒนาครูเป็นครั้งแรก อีกทั้งขณะนี้ยังเป็นเพียงครูผู้ช่วย ไม่มีวิทยฐานะอะไร ยังไม่สามารถนับชั่วโมงอบรมเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยาฐานะได้ ซึ่งการเข้าร่วมอบรมคูปองครูครั้งนี้ เพราะอยากจะพัฒนาตัวเอง จึงเลือกอบรมหลักสูตร การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ใช้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ในการสอนภาษาไทยมัธยมปลายŽ สาเหตุที่เลือกหลักสูตรนี้ เพราะคิดว่าสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้จริง อีกทั้งยังมีครูในหมวดเดียวกันเข้าร่วมอบรมด้วย 3-4 คน ค่าใช้จ่ายหลักสูตรนี้ 4,800 บาท การอบรมใช้เวลา 2 วัน และจะได้ชั่วโมงอบรมรวมแล้ว 12 ชั่วโมง”

“หลักสูตรที่อบรม เป็นการสอนแบบประยุกต์ใช้ว่าจะนำการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ไปใช้ในการสอนภาษาไทยอย่างไร วันแรกเรียนว่าจะสอนอย่างไรให้เด็กเข้าใจ มีส่วนร่วมมากกว่าให้ครูเป็นผู้สอนผู้บรรยาย วันที่สองให้ร่วมกิจกรรม เพื่อจัดทำการเรียนการสอน เป็นต้น ระยะเวลา 2 วันที่ได้ไปอบรม ถามว่าสามารถเอาไปใช้ได้จริงหรือไม่ คิดว่าเอาไปใช้ได้แค่ 10% เท่านั้น เพราะเรียนทฤษฎีมากกว่า ซึ่งเราคาดหวังสูงกับการอบรมนี้ เพราะอยากจะเอาความรู้ อยากได้วิธีการสอนรูปแบบใหม่ที่ได้จากการอบรมไปใช้จริง แต่จากการอบรมครั้งนี้ ยังไม่ตอบโจทย์มากเท่าที่ควร อีกทั้งวิทยากร ไม่ค่อยมีความพร้อม วิทยากรบรรยายกิจกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถเอาไปสอนได้จริง บางครั้งสอนแค่พื้นฐานซึ่งเป็นเรื่องที่ครูรู้อยู่แล้ว เช่น เขียนแผนการอย่างไร เป็นต้น แต่ภาพรวมแล้วรู้สึกดีและพอเข้าใจที่มีการอบรม เพราะยุคนี้เป็นยุคใหม่ การเรียนการสอนต้องเป็น 4.0 เด็กและครู ต้องพัฒนาไปตามศตวรรษและไปยังอนาคตที่ดีและทันสมัยมากขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image