กยศ.แฉเบี้ยวหนี้ 2.1 ล้านราย วงเงิน 6.8 หมื่นล.บ. เป็นขรก. 7 หมื่นราย วงเงิน 3.4 พันล.บ.

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการชำระหนี้กองทุนกยศ. และกองทุนเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ที่ผ่านมานั้น หลังจากที่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ภาพรวมของการชำระหนี้ปีนี้ดีขึ้นมาก จากข้อมูลการเก็บเงินวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ได้รับการชำระหนี้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 10%

“การประกาศใช้พ.ร.บ. ฉบับใหม่ กำหนดให้องค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืม เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบผ่านกรมสรรพากร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กองทุนกำหนดโดยกยศ.กำหนดให้กรมบัญชีกลาง เป็นหน่วยงานแรกในการนำร่องหักเงินเดือน และแนวทางต่อไป จะขยายผลเรียกเก็บเงินข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง และขยายไปยังหน่วยราชการที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลาง วางแผนครอบคลุมทั้งหมดภายในสิ้นปี2561” นายชัยณรงค์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ กยศ.วางแผนขยายผลเรียกเก็บเงินให้ครอบคลุมหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น ภายในปี 2562 และในส่วนของภาคเอกชน ต้นปี 2562 กยศ.จะเริ่มเรียกเก็บเงินเดือน โดยมีบริษัทใหญ่ๆ เป็นองค์กรนำร่อง ซึ่งจากที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคเอกชน

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับใหม่มีข้อดีตรงที่ กยศ. สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ได้ เช่น เบอร์โทร สถานที่ทำงาน ทรัพย์สิน เพื่อสะดวกต่อการติดต่อเรียกเก็บเงิน และในขณะนี้ มีกลุ่มผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1 ล้านราย และกลุ่มผิดนัดชำระหนี้แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.2 ล้านราย หากใครอยู่ในกลุ่มเหล่านี้และได้รับหมายศาล อย่าตกใจและขอให้จำเลยและผู้ค้ำประกัน มาที่ศาลตามวันนัดเพื่อมาประนีประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้สิ้น ซึ่งหากมาไกล่เกลี่ยหนี้สิน ทางกยศ. ให้โอกาสผ่อนอีก 9 ปีเต็ม

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สถานการณ์ดำเนินงานกองทุน ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 จากการวบรวมข้อมูล กยศ. มีผู้กู้ทั่วประเทศ 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงิน 5.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ผู้กู้ที่อยู่ในช่วงกำลังศึกษา/อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1 ล้านราย, ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 8 แสนราย, ผู้กู้ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 5 หมื่นราย และผู้กู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย เป็นเงิน 4 แสนล้านบาท โดยผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ แบ่งเป็น ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย และผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 6.8 หมื่นล้านบาท โดยผู้กู้ที่ผิดชำระหนี้ แบ่งเป็น กลุ่มผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.2 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 2 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี 1 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 4.8 หมื่นล้านบาท

Advertisement

ผู้จัดการกยศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับข้าราชการที่เป็นผู้กู้ยืม มีจำนวน 169,000 ราย เป็นเงินต้นคงเหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ผู้กู้ที่ชำระปกติ 99,000 ราย และผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ 70,000 ราย เป็นเงินค้างชำระ 3.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ปีพ.ศ.2558 – 2560 ที่ผ่านมาการชำระเงินคืนดีขึ้นตามลำดับทำให้การปล่อยกู้ในปัจจุบัน กองทุนฯ ไม่ต้องของบประมาณแผ่นดินในการจัดสรรวงเงินให้กู้ยืม โดยปี 2558 ได้รับการชำระหนี้คืน 1.8 หมื่นล้านบาท, ปี 2559 ได้รับชำระหนี้คืน 2.1 หมื่นล้านบาท และปี 2560 ได้รับชำระหนี้คืน 2.6 หมื่นล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image