กยศ.เตรียมจัดโครงการไกล่เกลี่ยเพื่อครู แก้ปัญหาถูกศิษย์เบี้ยวหนี้!!

ความคืบหน้ากรณีน.ส.วิภา บานเย็น หรือครูวิภา อายุ 47 ปี ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ให้นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน ทำให้ครูวิภาถูกยึดทรัพย์ โดยจาก 60 ราย มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย  ทั้งนี้หลังจากที่เป็นข่าว พบว่ามีลูกศิษย์ ที่ครูวิภา ทยอยปิดบัญชีแล้ว 4 ราย เหลือที่ยังติดต่อไม่ได้อีก 13 ราย

ล่าสุดมีกรณีลูกศิษย์เบี้ยวหนี้เกิดขึ้นอีก โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ  ‘สรพงศ์ เค้ากล้า’ ครูโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ได้โพสต์ขอร้องลูกศิษย์ที่เบี้ยวหนี้กยศ. ขอให้ชดใช้หนี้ ความว่า แจ้งถึงลูกศิษย์ครูหมี ห้วยต้อน ได้ค้ำประกันเงินกู้กยศ.ให้ศิษย์ได้เรียนมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ ปี 2539-2548 ประมาณ 40 ราย รายละ 3-4 แสนบาท ขณะนี้กยศ. มีหมายศาลให้ครูติดตามมาไกล่เกลี่ย ผ่อนใช้เงินกู้คืนได้ 13 ราย ที่เหลือยังติดตามไม่เจอ ตอนนี้มียอดหนี้รวม 3-4 ล้านบาท ทั้งนี้ครูสรพงษ์ ขอร้องให้ลูกศิษย์อย่าให้เป็นเหมือนครูวิภา  เพราะใกล้เกษียณแล้วกลัวจะไม่มีเงินบำนาญไว้ใช้ยามแก่ชรา ครูมีบ้านหลังเดียว กลัวถูกฟ้องยึดขายทอดตลาด อีกทั้งช่วงนี้ยังป่วยไม่มีแรงจะตามหาเพราะหลายคนอยู่ไกล

ส่วนอีกรายมีการเผยแพร่ กรณีครูไกรวิทย์ สุขสำอางค์ อายุ 58 ปี อดีตครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านหนองแขม ค้ำประกันให้ลูกศิษย์ 40-50  ราย และถูกเบี้ยวหนี้ จนศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องออกจากอาชีพครู มียอดหนี้กว่า 6 ล้านบาท ต้องแยกทางกับภรรยา อีกทั้งตอนนี้ยังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ อาศัยทำมาหากินโดยเลี้ยงปลาหมอสี ได้อาศัยญาติพี่น้องช่วยเหลือ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกยศ. กล่าวว่า กรณีของครูวิภา เนื่องจากติดวันหยุดราชการ ข้อมูลศิษย์ที่ติดต่อขอชำระหนี้จึงยังไม่มีเพิ่มเติม ส่วนกรณีครูสรพงศ์ และครูไกรวิทย์ ตนยังไม่ทราบรายละเอียด ขอดูให้มีความชัดเจนก่อนยังไม่อยากพูดอะไร แต่ยืนยันได้ว่าจนถึงขณะนี้กยศ. ไม่เคยฟ้องล้มละลายใคร มีเพียงการฟ้องแพ่งเพื่อติดตามยึดทรัพย์คืน  ส่วนจะมีครูที่ค้ำประกันให้ศิษย์และถูกฟ้องยึดทรัพย์กี่รายนั้น การปล่อยกู้ในช่วงแรกไม่มีข้อมูลว่า ผู้ค้ำทำอาชีพใดบ้าง แต่มาเริ่มเก็บข้อมูล ในช่วงปี 2551  แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่า จำแนกผู้ค้ำแต่ละอาชีพ  อย่างไรก็ตามเข้าใจว่า ในช่วง 20 ปีก่อนจะมีครูที่ค้ำประกันเงินกู้ให้ลูกศิษย์จำนวนมาก เพราะการเดินทางไม่สะดวก แต่ช่วงหลังการเดินทางสะดวกขึ้น อีกทั้งกยศ.เองไม่ได้กำหนดว่า ผู้ค้ำต้องเป็นข้าราชการหรือเป็นครู เป็นใครก็ได้  ดังนั้นช่วงหลังจึงมีครูคำประกันให้ศิษย์น้อยลง ส่วนจะเหลือจำนวนเท่าไรนั้น ต้องไปดูรายละเอียด ขณะนี้ตนไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอน

Advertisement

“ผมเข้าใจถึงความเดือดร้อนครั้งนี้ กยศ. กำลังคิดจะทำโครงการไกล่เกลี่ยเพื่อครูที่ไปค้ำประกันให้นักเรียน และได้รับความเดือดร้อนต้องรับภาระหนี้แทน ได้มีทางออกโดยจะเปิดให้ครูที่ค้ำให้นักเรียน แต่ไม่แน่ใจว่ามีการชำระหนี้หรือไม่ หรือครูที่ถูกแจ้งบังคับคดีเข้ามาร่วมโครงการ หรือถ้าใครรู้ตัวว่าเคยให้ครูค้ำประกันเงินกู้ให้ก็สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้ เพื่อไกล่เกลี่ยผ่อนชำระหนี้ซึ่งไม่สามารถผ่อนชำระรายเดือนได้”นายชัยณรงค์ กล่าว

ผู้จัดการกยศ. กล่าวต่อว่า  ส่วนกรณีที่นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) ได้โพสต์เฟชบุ๊ก ระบุว่า การสืบทรัพย์เด็กให้สืบทรัพย์บิดามารดาด้วย เพราะการก่อหนี้ตั้งแต่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะทำนิติกรรมโดยที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไม่ยินยอมไม่ได้ และกยศ.ควรเริ่มยึดทรัพย์เป็นลำดับจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อน จึงไปเอาผู้ค้ำ จึงจะเป็นธรรม นั้น  เท่าที่ดูคำแนะนำของรองปลัดยท. ไม่น่าจะทำได้ เพราะพ่อ แม่ไม่ได้ผู้ค้ำประกัน เพียงแต่เซ็นยินยอม และไม่ได้เป็นคู่สัญญากัย ดังนั้นเมื่อมีการดำเนินคดี กยศ. และไม่สามารถติดตามหนี้จากผู้กู้ได้ ก็ต้องไปติดตามเอาจากผู้ค้ำ ซึ่งขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนจะมีช่องทางอื่นเพื่อให้พ่อแม่ เข้ามามีส่วนรับภาระหนี้ของลูกตนเองได้หรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ ตรงนี้ อาจต้องให้ฝ่ายกฎหมายเป็นคนพิจารณา ส่วนที่ทางรองปลัดยธ.เสนอแนะว่า อนาคตควรกำหนดวงเงินคำประกันของข้าราชการแต่ละระดับ และให้พ่อแม่ เป็นผู้ค้ำประกันลู ของตัวเองด้วยนั้น ส่วนตัวเห็นด้วย และจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา ทั้งนี้กยศ. ไม่เคยห้ามพ่อแม่ค้ำประกันเงินกู้ให้ลูก เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่า มีพ่อ แม่ ค้ำประกันให้ลูกจำนวนเท่าไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image