สงฆ์ : แบบอย่างสังคมแห่งการเรียนรู้

เมื่อพิจารณาในแง่ประวัติความเป็นมาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สังคมสงฆ์ หรือ ชุมชนสงฆ์ นั้น เป็นสังคมจัดตั้งที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก นั่นคือ เป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งมานานกว่า 2,500 ปี

สังฆะ หรือ สงฆ์ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์จบลง อัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธัมมจักษุ) และได้ทูลขออุปสมบทกับพระพุทธองค์ และได้กลายเป็นภิกษุสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาในฐานะสังคม หรือชุมชนมีองค์ประกอบครบถ้วนเป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้จึงถือได้ว่า เป็นการถือกำเนิดสังคม หรือชุมชนทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

คำว่า สังฆะ หรือสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา จึงหมายถึง สังคม ชุมชน บริษัท (assembly) แห่งสาวกของพระพุทธเจ้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) อริยสงฆ์ หรือสาวกสงฆ์ (the Noble Sangha or the community of noble disciple) หมายถึง สาวกของพระพุทธเจ้าผู้บรรลุมรรคผลตั้งแต่ระดับต้น จนถึงระดับสูงสุด ซึ่งมี 4 ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

และ 2) สมมุติสงฆ์ หรือภิกษุสงฆ์ (the Conventional Sangha or the community of Bhikkhus or Monks) แปลตามตัวอักษรว่า สงฆ์โดยสมมุติ หมายถึง ผู้เข้ามาบวชเป็นภิกษุ ยังเป็นปุถุชนมีกิเลสเช่นสามัญชนทั่วไป แต่ปฏิบัติเพื่อความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิตใจ สมมุติสงฆ์นี้กำหนดจำนวน 4 รูปขึ้นไป สามารถประกอบสังฆกรรมได้ โดยมีพระวินัยเป็นกรอบสำคัญ

Advertisement

ข้อแตกต่างระหว่างสงฆ์ 2 ประเภทนี้ คือ อริยสงฆ์ หรือสาวกสงฆ์ มิได้จำกัดเพศว่า เป็นภิกษุ หรือคฤหัสถ์ แต่มุ่งหมายเอาบุคคลผู้มีคุณภาพทางจิตใจที่บริสุทธิ์ขึ้นตามลำดับทั้ง 4 ประการดังกล่าว ส่วนสมมุติสงฆ์นั้น หมายเอาเฉพาะผู้ที่ถือเพศบรรพชิต โดยกำหนดว่า ต้องมีจำนวน 4 รูปขึ้นไปเท่านั้น อาจจะเป็นปุถุชนธรรมดา หรือพระอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่งดังกล่าวมาก็ได้

เมื่อพิจารณาจากการจัดตั้งสงฆ์ของพระพุทธองค์ จะเห็นได้ว่า พระองค์ได้ทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองในด้านพฤติกรรม จิตใจ และสติปัญญา ให้มีอิสรภาพหลุดพ้นจากกิเลส และมีความสุข โดยผ่านสังคมสงฆ์เป็นแบบอย่างสำคัญ โดยให้ทุกคนได้เข้าถึงความเป็นอริยสงฆ์เป็นสำคัญ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระพุทธองค์ทรงต้องการให้โลกนี้เป็นชุมชน หรือสังคมของพระอริยะ หรือคนที่พัฒนาตนแล้ว การที่จะให้บุคคลได้เข้าสู่ภาวะแห่งการพัฒนาดังกล่าวได้นั้น จำเป็นต้องมีการจัดตั้งชุมชนที่เป็นรูปธรรม พระองค์จึงทรงตั้งชุมชนสงฆ์ คือ สมมุติสงฆ์ขึ้นมาเป็นแบบอย่าง หรือตัวอย่าง ซึ่งมีหน้าที่ และภารกิจหลัก คือการฝึกฝนอบรมบุคคลให้ได้รับการพัฒนาตนเอง แล้วออกไปสั่งสอนธรรม หรือพัฒนาประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทุกหมู่เหล่า ทุกวรรณะ ทุกเพศ และทุกเชื้อชาติ ให้ได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นพระอริยะ หรืออริยสงฆ์

Advertisement

ภิกษุสงฆ์ที่ทรงตั้งขึ้นมา จึงเป็นสังคม หรือชุมชนแบบอย่าง ที่มีการจัดตั้งในลักษณะองค์กรที่เป็นรูปนัย (formal organization) ตามความหมายในทางสังคมวิทยา มีการกำหนดภารกิจที่ชัดเจน และวางกรอบพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชน คือ การบัญญัติพระวินัยให้สมาชิกในสังคมสงฆ์ มีคุณสมบัติเฉพาะหลายประการ กำหนดความสัมพันธ์กับสมาชิกในสังคมสงฆ์ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันและกัน ด้วยหลักสาราณียธรรม 7 ประการ เป็นต้น

สาระสำคัญของอปริหานิยธรรมทั้ง 7 ประการนี้ อยู่ที่สมาชิกในสังคมสงฆ์จะได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดศักยภาพทางสติปัญญา อันจะนำไปสู่การตัดสินใจ และดำเนินงานร่วมกัน และนำไปสู่ความเจริญงอกงามไพบูลย์ของสังคมสงฆ์ในที่สุด

สังคมสงฆ์ จึงมีสาระสำคัญ คือ มีพระวินัยเป็นรากฐานสำคัญ เป็นเครื่องมือควบคุมสงฆ์ให้คงรูปอยู่ได้ด้วยความสมัครสมานสามัคคี เป็นพลังหนึ่งเดียว เพราะสังคมสงฆ์ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร สงฆ์จึงเป็นแหล่งกัลยาณมิตร ที่คนในสังคมเข้าพบแล้วได้รับประโยชน์ เป็นตัวช่วยมนุษย์ให้เข้าถึงสาระคือ ธรรมะ และพัฒนาตนเอง จนกลายเป็นสมาชิกของอริยสงฆ์ต่อไป

นอกจากความสัมพันธ์ และหน้าที่ ที่สงฆ์จะต้องมีต่อสงฆ์ และสังคมภายนอกแล้ว สงฆ์ในฐานะเป็นสังคมแบบอย่าง ยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องต่อส่วนต่างๆ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคมทั่วไปอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากพระธรรมวินัยที่กำหนดให้เป็นข้อปฏิบัติของสงฆ์

ด้วยเหตุนี้ เหตุแห่งการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งตามแนวคิดในทางพระพุทธศาสนา จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองของมนุษย์ ที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ (พุทธะ) ธรรมชาติ (ธรรม) และสังคม (สังฆะ) เข้าด้วยกัน บนพื้นฐานแห่งการเรียนรู้และพัฒนามนุษย์ทั้งในส่วนของพฤติกรรม (ศีล) จิตใจ (สมาธิ) และสติปัญญา (ปัญญา)

การเกิดขึ้นของสังคม หรือชุมชนสงฆ์ในวันอาสาฬหบูชานี้ จึงเป็นการเกิดขึ้นของแบบอย่างของสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามารับการฝึกฝนและพัฒนาตนเอง ทั้งในทางด้านพฤติกรรม (ศีล) จิตใจ (สมาธิ) และความรู้ความเข้าใจ (ปัญญา) ก้าวพัฒนาจากการเป็นสมมุติสงฆ์สู่ความเป็นพระอริยสงฆ์ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image