เปิดงานวิจัย สกว. ชี้ ‘อารมณ์’ สร้างความขัดแย้งสังคมไทยในรอบ 10 ปี-‘เฟซบุ๊ก’ พื้นที่สงครามน้ำลาย’ (คลิป)

ศ.ดร.ไชรัตน์ เจริญสินโอฬาร

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 9 สิงหาคม ที่ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานประชุมเผยแพร่ชุดโครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีที่ 2 พ.ศ.2561

ศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ “การสร้างการรับรู้ในสังคมไทย” กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการทำความเข้าใจไม่ใช่การอธิบาย โดยต้องการทำความเข้าใจความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยแบ่งเป็น 3 ปี โดยในปีนี้ศึกษาผลกระทบเชิงการเมือง-วัฒนธรรม ให้ความสนใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรับรู้ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น หวาดกลัว เกลียดชัง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจ ใช้ Hate Speech อารมณ์เชื่อมโยงกับอำนาจผ่านภาษา

“ใน 10 ปีมีทั้งความเกลียด กลัว กังวล หมั่นไส้ ขยะแขยง ปะปนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาตอบโต้เชิงศีลธรรมของกลุ่มอนุรักษนิยม อารมณ์ต่างกัน นำไปสู่ภววิทยาทางการเมืองที่ต่างกัน อารมณ์ความคิด คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ไม่มีเหตุผลอย่างที่เข้าใจกัน การศึกษาอารมณ์จึงทำให้เราเข้าใจความรับรู้ได้ ทำให้เราทำความเข้าใจความขัดแย้งได้ การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา แม้มีการสร้างความขัดแย้งแต่ทำให้เกิดชุมชนอย่างหนึ่ง คือ ชุมชนความเป็นคนดี” ศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์กล่าว

ในช่วงหนึ่งเป็นการนำเสนอโดย อ.วรเทพ ว่องสรรพากร คณะศิลปศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งกล่าวว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่หลักการแสดงออกทางการเมือง และพื้นที่การเรียนรู้ทางการเมืองด้วย ประเด็นหลักที่ตนวิเคราะห์ คือ การเมืองของความเกลียดชัง สิ่งที่คนในสังคมไทยในช่วงที่เฟซบุ๊กเข้ามาใหม่ๆ คิดว่า เป็นสิ่งช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รณรงค์ แต่จากงานวิจัยพบว่า ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น หากแต่เป็นพื้นที่แสดงออกตัวตน บอกว่าเราเป็นใคร ไม่ว่าเราจะแชร์ข่าว กดไลค์ ไม่ได้มีเป้าหมายนำเสนอข่าวนั้นจริงๆ แต่มีเป้าหมายเพื่อบอกว่าเราเป็นคนอย่างไร

Advertisement

“การเล่นเฟซบุ๊ก เป็นการแสดงสิ่งที่เราอยากเป็น มีลักษณะแฟนตาซี พอเป็นพื้นที่แสดงออก จึงเกิดการปะทะกัน เกิดความเป็นพวกเรา พวกเขา เป็นพื้นที่ทำสงครามน้ำลาย เป็นพื้นที่แสดงออกการเมืองของถ้อยความเกลียดชัง ลองดูชื่อกลุ่ม ชื่อเพจ บางครั้งมีคำหยาบด้วย ฐานที่ลึกสุดบนความเกลียดชังในเฟซบุ๊กที่แท้จริง คือ ความรักในความเป็นไทย รู้สึกว่าความเป็นไทยถูกทำลาย จึงต้องทำร้ายคนที่มาทำลายความเป็นไทย ความโกรธเกลียดที่ปรากฏในเฟซบุ๊กคนไทยมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น อารมณ์หมั่นไส้ แปลเป็นภาษาอื่นได้ยาก อารมณ์ความนึกคิดสัมพันธ์กับวัฒนธรรมในสังคม” อ.วรเทพกล่าว

อ.กุลชาติ ทักษไพบูลย์ อาจารย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวในหัวข้อ “การเมืองของถ้อยความเกลียดชัง :ภาษากับการสร้างความเกลียดชังในความขัดแย้งการเมืองไทย” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในวิกฤตการเมืองที่ดำเนินและเกิดขึ้นมากกว่าทศวรรษ หรือ “การเมืองสีเสื้อ” ถ้อยความเกลียดชัดต่างๆถูกผลิตสร้างและใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม

Advertisement

“คำว่าระบอบทักษิณถูกใช้ในฐานะเป็นถ้อยความเกลียดชังทางการเมือง ตีตราผู้นิยมหรือสนับสนุนโดยหมายถึงผู้หลงผิด ลุ่มหลงเงิน ผลประโยชน์ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากจะถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล โดย กปปส. ถึงความเป็นตระกูลชินวัตร และตัวแทนระบอบทุกษิณ เผชิญถ้อยความเกลียดชังในแง่มุมส่วนตัว โดยเฉพาะประเด็นทางเพศ ที่ถูกนำมาปลุกเร้าความรู้สึก ส่วนช่วงหลังเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดง ปี 2553 คนเสื้อแดงถูกตีตราว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งนอกจากสะท้อนสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกลางจำนวนมากแล้ว ยังลดทอนรายละเอียดในแง่มุมต่างๆของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนเกือบหมด กิจกรรม big cleaning day ก็สะท้อนมุมมองว่าคนเมืองชนชั้นกลางมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงจลาจลหรือความวุ่นวายที่ถูกซื้อหรือถูกชักจูงโดยแกนนำและนักการเมืองเท่านั้น” อ.กุลชาติกล่าว

กุลชาติ ทักษไพบูลย์

(ชมคลิป)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image