‘หมอธี’ดีเดย์ประเมินแบบใหม่ 4.5 พันร.ร. เน้นพัฒนาสถานศึกษา ลดภาระครู

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดสัมมนาเรื่อง เปิดศักราชใหม่ในการประกันคุณภาพการศึกษา School –friendly QA : an innovation platform โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 700 คน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ เคาะระฆังในการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบใหม่ แก้ไขปัญหามานานและมีเสียงไม่พอใจมากพอสมควร ว่า การประเมินทำให้ครูมีภาระงานมาก ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามจะร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังมีความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งบางครั้งก็รุนแรง วันนี้ความขัดแย้งทุกอย่างจบแล้ว และเรามีกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ฉบับใหม่ ซึ่ง จะไม่มีการส่งตัวชี้วัดให้สถานศึกษา ขั้นตอนการประกันคุณภาพจะ เป็นไปเพื่อพัฒนา ไม่ให้เป็นภาระกับครู แต่ภาระจะไปตกอยู่ที่ผู้บริหาร ทั้งนี้การประเมินรอบ 4 จะเริ่มทันทีใน 4,500 โรงเรียน กลุ่มโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งคุ้นเคยกับวิธีการประกันคุณภาพแบบใหม่อยู่แล้ว 

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการประเมิน โรงเรียนจะต้องเขียนแผนการประเมินตนเอง โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ว่าตัวเป็นสถานศึกษาในระดับใด จาก 5 ระดับ คือ ระดับพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดี ระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม โดยอาจพิจารณาจากกรอบความพร้อมของโรงเรียน เช่น จำนวนครูต่อจำนวนนักเรียน ความพร้อมของห้องเรียน และระบบอินเทอร์เน็ต ห้องสมุด เป็นต้น ซึ่งแผนพัฒนา โรงเรียนจะต้องแข่งกับตัวเอง เพื่อเลื่อนระดับตัวเองให้ดีขึ้น โดยดูผลความสำเร็จจาก คุณภาพนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การแก้ไขปัญหา ความขาดแคลนในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อส่งให้ต้นสังกัด เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในส่วนของมหาวิทยาลัย หลักเกณฑ์การประเมินรูปแบบนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดำเนินการอยู่แล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยใด ยังไม่มีรูปแบบการดำเนินการ สามารถนำกรอบการประเมินของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มาต้นแบบเพื่อประเมิน โดยสถานศึกษา จะต้องออกแบบการประเมินตนเอง ตามบริบทและแนวทางการพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีโจทย์ และเป้าหมายต่างกัน ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวสำหรับทุกคนอย่างที่ผ่านมา และตนย้ำต้นสังกัดไม่ให้ส่งแบบฟอร์มลงไปให้สถานศึกษา และการประเมินครั้งนี้จะไม่ใช่การจับผิด หรือ ลงไปตรวจสอบเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการประเมินฉันท์มิตร โดย 3 ฝ่าย คือ ศธ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)สมศ. และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะลงพื้นที่ ไปทำการประเมินเพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียน 

“ การประเมินแบบใหม่ อะไรที่เป็นความขัดแย้ง ต่อไปจะไม่มี จะให้สถานศึกษา จัดทำแผนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามาตรฐานการศึกษา และดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงเป็นการประเมินตามสภาพความเป็นจริงของสถานศึกษาเอง อย่างไรก็ตามในการประเมินทุกครั้งที่ผ่านมา จะมีคนอาสาเข้าติวให้ ที่ผ่านมาตรวจสอบแล้ว มีกว่า 30 บริษัท และการประกาศกฎกระทรวงนี้ทำให้มีคนเสียประโยชน์หลายราย จนผมต้องมีตำรวจติดตามเพิ่ม ขอย้ำว่า การประเมินแบบใหม่ ไม่ต้องมีการติว ถ้าใครไปแอบอ้างว่า จะช่วยเหลือหรือติวให้ก็อย่าไปเชื่อ ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image