ผ่าปมเกณฑ์ ‘ว24’ วิกฤต ร.ร.ขาด ‘ผู้นำ’ ปัญหาใหญ่..ยังไร้ทางออก!!

ส่อแววสะดุดอีกรอบ สำหรับการ “ย้าย” ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ว24/2560

หลังคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้ยกเลิกมติชะลอการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์ ว24/2560 ไปเมื่อกลางเดือนเมษายน 2561

ทันทีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลปกครองอุบลราชธานีวินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานีที่สั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อ 10 และข้อ 11 ของ ว24/2560 กรณีที่ศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำสั่งในคดีดำหมายเลขที่ บ.75/2560 ระหว่างนายเฉลิมเกียรติ แก้วกนก ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ด่วนที่สุดที่ ศธ 0206.4/ ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

โดยศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ดังกล่าว ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี…

Advertisement

“ปลดล็อก” ให้ ก.ค.ศ.เดินหน้าย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งดำเนินการค้างไว้ ใน 6 กรณี รวมกว่า 66 จังหวัด ดังนี้

1.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว และได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษา ตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว จำนวน 17 จังหวัด

2.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษาตามคำสั่งดังกล่าว จำนวน 5 จังหวัด

Advertisement

3.กรณีที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ออกคำสั่ง จำนวน 18 จังหวัด

4.กรณีที่คณะอนุกรรมการ กศจ.พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่นำเสนอ กศจ.จำนวน 16 จังหวัด

5.กรณีที่กลั่นกรองการย้ายแล้ว แต่ยังไม่เสนอคณะอนุ กศจ. และ กศจ.จำนวน 5 จังหวัด

และ 6.กรณีที่ยังไม่ดำเนินการใดๆ จำนวน 12 จังหวัด

การโยกย้ายยังไม่ทันเสร็จสิ้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นายรังสิมันต์ ยาละ ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย ยื่นฟ้อง ก.ค.ศ.ต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตาม ว24/2560

อีกประเด็น ในกรณีที่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไปกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องขอย้าย ดังนี้ 1.1 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าว ในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันที่ 31 ตุลาคมของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย

ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับการพิจารณาย้ายในรอบการย้ายปี 2559 ทั่วประเทศ จะไม่สามารถเขียนคำร้องขอย้ายในรอบปี 2561 ได้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะบางเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการย้ายเรียบร้อย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 แต่บางเขตพื้นที่ฯ ย้ายเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2559

หากกำหนดให้นับถึงวันที่ 31 ตุลาคมของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย จะทำให้ผู้ที่ย้ายในเดือนพฤศจิกายน 2559 เสียสิทธิในการย้ายรอบนี้ทันที

สําหรับหลักเกณฑ์การย้ายตาม ว9/2559-ว24/2560 เปรียบเทียบข้อที่มีกรณีฟ้องร้อง ดังนี้

ว9/2559 กำหนดว่าต้องดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ /รองผู้อำนวยการ และปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันยื่นคำขอพิจารณาการย้ายตามข้อ 10 และ 11 มีดังนี้

10.1 การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน ทั้งภายใน และต่างเขตพื้นที่ฯ ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาเดียวกัน และใกล้เคียงกันพร้อมกันก่อน

โดยให้ประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ความรู้ความสามารถในการพัฒนาสถานศึกษา ผลการปฏิบัติงาน ประสบการณ์คุณวุฒิ การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ ความอาวุโสตามหลักราชการ และระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบัน โดย สพป.จัดทำรายละเอียดในการประเมินศักยภาพ เสนอ กศจ.เพื่อให้ความเห็นชอบ และจัดทำเป็นประกาศของ สพป.

10.2 การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพม.ด้วยกัน ทั้งภายใน และต่างเขตพื้นที่ฯ ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาเดียวกัน และใกล้เคียงกันพร้อมกันก่อน

โดยให้มีการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ความรู้ความสามารถในการพัฒนาสถานศึกษา ผลการปฏิบัติงาน ประสบการณ์คุณวุฒิ การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ ความอาวุโสตามหลักราชการ และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบัน โดย สพม.จัดทำรายละเอียดในการประเมินศักยภาพ เสนอ กศจ.เพื่อให้ความเห็นชอบ และจัดทำเป็นประกาศของ สพม.

หากตำแหน่งว่างเหลือให้พิจารณาคำขอย้ายโดยข้ามขนาดได้เกิน 1 ขนาด จากปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งอยู่
ว24/2560 กำหนดคุณสมบัติผู้ขอย้าย ตามข้อ 1.1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของปีที่ขอย้าย การพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ตามข้อ 10 และ 11 ดังนี้

10.1 การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ใน สพป.ให้พิจารณาย้ายตามลำดับ ดังนี้

1.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน ภายในจังหวัดเดียวกันพร้อมกันก่อน กรณีที่จังหวัดใดมีสถานศึกษาขนาดใดขนาดหนึ่งเพียงสถานศึกษาเดียว ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน ภายในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาใกล้เคียงกัน ก่อนการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน จากจังหวัดอื่น ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาเดียวกัน

2.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน จากจังหวัดอื่น ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาเดียวกันพร้อมกัน

3.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน ภายในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาใกล้เคียงกันพร้อมกันก่อน

4.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน จากจังหวัดอื่น ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาใกล้เคียงกันพร้อมกัน โดยให้มีการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ความรู้ความสามารถในการพัฒนาสถานศึกษา ผลการปฏิบัติงาน ประสบการณ์คุณวุฒิ การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ ความอาวุโสตามหลักราชการ และระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบัน โดย สพป.จัดทำรายละเอียดในการประเมินศักยภาพ เสนอ กศจ.เพื่อให้ความเห็นชอบ และจัดทำเป็นประกาศของ สพป.

10.2 การย้ายผู้บริการสถานศึกษาสังกัด สพม.ให้พิจารณาย้ายตามลำดับ ดังนี้

1.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาในสำนัก สพม.ด้วยกัน ภายในจังหวัดเดียวกันพร้อมกันก่อน กรณีที่จังหวัดใดมีสถานศึกษาขนาดใดขนาดหนึ่งเพียงสถานศึกษาเดียว ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน ภายในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาใกล้เคียงกัน ก่อนการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน จากจังหวัดอื่น ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาเดียวกัน

2.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพม.ด้วยกัน จากจังหวัดอื่น ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาเดียวกันพร้อมกัน

3.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพม.ด้วยกัน ภายในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาใกล้เคียงกันพร้อมกัน

4.ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใน สพป.ด้วยกัน จากจังหวัดอื่น ซึ่งมีขนาดสถานศึกษาใกล้เคียงกันพร้อมกัน
โดยให้มีการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ ความรู้ความสามารถในการพัฒนาสถานศึกษา ผลการปฏิบัติงาน ประสบการณ์คุณวุฒิ การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ ความอาวุโสตามหลักราชการ และระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบัน โดย สพป.จัดทำรายละเอียดในการประเมินศักยภาพ เสนอ กศจ.เพื่อให้ความเห็นชอบ และจัดทำเป็นประกาศของ สพม.

11.การพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่เป็นไปตามข้อ 10 เมื่อพิจารณาย้ายตามข้อ 10 แล้ว หากยังมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่ ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาตามลำดับ ดังนี้

11.1 ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ที่ขอย้ายไปสถานศึกษาที่ต่างประเภท หรือขอย้ายตามขนาดสถานศึกษาที่เกินกว่า 1 ขนาด จากจังหวัดอื่น

11.2 ให้พิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่ขอย้ายไปสถานศึกษาที่ต่างประเภท หรือขอย้ายข้ามสถานศึกษาที่เกินกว่า 1 ขนาด จากจังหวัดอื่น ยกเว้นการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไปแต่งตั้งในสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ทั้งนี้ ให้มีการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ตามข้อ 10 ด้วย

สำหรับข้ออื่นให้คงเดิม

แม้ขณะนี้ ศาลปกครองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องของนายรังสิมันต์ แต่หากศาลรับคำฟ้อง จะส่งผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ต้องสะดุดอีกรอบ และครั้งนี้ไม่แน่ใจว่า ปัญหาจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน

ครั้งแรก นายเฉลิมเกียรติฟ้องเมื่อปี 2560 เป็นเหตุให้ย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2559 ต้องชะลอนานกว่า 2 ปี โรงเรียนขาดผู้นำ สพฐ.ต้องปรับแผนบริหารจัดการ แต่งตั้งรองผู้อำนวยการโรงเรียนรักษาการ ขณะที่บางแห่งไม่มีกระทั่งรองผู้อำนวยการ เหลือแต่ครูปฏิบัติหน้าที่ ก็ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนใกล้เคียงนั่งบริหารควบ

เมื่อย้ายไม่ได้ เปิดสอบคัดเลือกก็ไม่ได้ ทำให้มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศว่างกว่า 7 พันอัตรา
พอถูกฟ้องรอบ 2 จะมีผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2561 เพิ่มอีก 2,596 อัตรา

หาก สพฐ.ไม่สามารถดำเนินการย้าย และจัดสอบผู้บริหารสถานศึกษาได้ จะทำให้มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ว่างประมาณ 9,569 อัตรา

กระทบต่อคุณภาพการศึกษาแน่นอน !!

ถือเป็นวิกฤตขั้นรุนแรง โรงเรียนร้างผู้บริหาร ขาดผู้นำพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้เรียนย่อมแผ่วลงตามไปด้วย

เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ที่ต้องติดตามว่า เสมา 1 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะประธานบอร์ด ก.ค.ศ.จะนำทัพแก้เกมนี้อย่างไร??

แต่คงต้องเร่งหาทางออกให้ได้โดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ปัญหาการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอีก จนยากจะเยียวยา…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image