หอจดหมายเหตุฯ จันทบุรี เปิดเอกสาร ‘ร.9-ราชินี’ เสด็จฯ เมืองจันทบุรี 6 ครั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปยังบ้านโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถุงของขวัญแก่นาวิกโยธินและตำรวจตระเวนชายแดน สิ่งของเครื่องอุปโภคแก่ราษฎร และเครื่องเรียนให้แก่นักเรียน แล้วเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2513

จากกรณีหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี กรมศิลปากร ค้นพบเอกสารสำคัญของจันทบุรีบริเวณใต้ถุนอาคารศาลาว่าการมณฑลจันทบุรี ซึ่งต่อมาใช้งานเป็นสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี โดยเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลก อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ.2449-2522 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1-2 และช่วงสงครามเย็น โดยทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรีได้ ทำโครงการ “การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก:จันทบุรี” เพื่อนำเสนอเข้าคณะกรรมการมรดกความทรงจำโลกแห่งประเทศไทย และเคยเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้เอกสารนั้น

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายเมธาดล วิจักขณะ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ในการแก้เอกสารจดหมายเหตุ “การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก : จันทบุรี” เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย นอกจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่มีหน้าที่จัดทำเอกสารแล้ว ได้มอบหมายให้คณะกรรมการจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่มีเจ้าหน้าที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ช่วยปรับแก้เอกสารชุดนี้เพื่อให้เป็นไปตามหัวข้อที่กำหนด ให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึง แนบเอกสารเพิ่มเติม แบบแผนบริการจัดการและการดูแลรักษาเอกสารมรดกชุดนี้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจดหมายเหตุแห่งชาติชุดนี้ เคยประสบความสำเร็จในการเสนอฟิล์มกระจก และต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เชื่อว่าจะให้คำแนะนำแก่หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่อาจไม่คุ้นเคยกับการจัดทำเอกสารเสนอมรดกโลกได้

“สำหรับเอกสารจดหมายเหตุชุดนี้ ถือเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่า มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชาติกับประวัติศาสตร์โลก ไม่สามารถหาทดแทนได้แล้วในปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องจัดเก็บตามมาตรฐาน ส่วนเอกสารจดหมายเหตุที่ชำรุด ให้ทำสำเนาในรูปแบบไมโครฟิล์ม ซึ่งปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี อยู่ระหว่างสแกนเอกสารให้อยู่ในระบบดิจิทัลมากที่สุด และในอนาคตทราบว่าทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เตรียมเสนอโครงการอาคารอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุภาคตะวันออก เพื่อให้การจัดเก็บ และดูแลรักษาเอกสาร เป็นไปตามมาตรฐานงานจดหมายเหตุในระดับสากล เนื่องจาก จ.จันทบุรี ได้ชื่อว่าเป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ สภาพภูมิอากาศมีความชื้นสูง ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดเชื้อรา และเอกสารเสื่อมสภาพได้ หากได้รับการอนุมัติ เชื่อว่าจะส่งผลให้การทำงานอนุรักษ์เอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี สมบูรณ์มากขึ้น” นายเมธาดล กล่าว

นายเมธาดลกล่าวอีกว่า อีกทั้ง เป็นการเตรียมความพร้อมหากเอกสารชุดนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกความทรงจำโลกประเทศไทย ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการมรดกโลกของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะต้องเดินทางมาดูเรื่องการบริหารจัดการ และดูแลรักษาเอกสารด้วย

Advertisement

นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี กล่าวว่า ได้เสนอให้คณะกรรมการมรดกความทรงจำโลกแห่งประเทศไทย พิจารณาโครงการ “การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก : จันทบุรี” ขึ้นมรดกความทรงจำโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เป็นครั้งแรก โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าข้อมูลดี แต่วิธีการนำเสนอยังไม่ชัดเจน เนื่องจากตนยังไม่ค่อนสันทัดเรื่องการเขียนเอกสารเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย และคิดว่าข้อมูลเอกสารที่มีสามารถขึ้นทะเบียนได้ในระดับโลก เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ คือ “การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก : จันทบุรี” เป็นเอกสารของ จ.จันทบุรี ที่มีการค้นพบบริเวณใต้ถุนของอาคารอนุรักษ์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของเอกสารจดหมายเหตุชุดนี้โดยตรง

“เนื้อหาภายในของเอกสาร แสดงถึงพัฒนาการด้านการบริหารราชการระหว่างส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่เชื่อมโยงโต้ตอบไปมา โดยมีลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนด้วยเอกสารประเภทสารตรา ใบบอก และบันทึกต่างๆ ระยะเวลาของเอกสารตั้งแต่ พ.ศ.2476-2522 มีจำนวน 163 ฟุต 326 กล่อง 4,260 รายการ 358,600 แผ่น 537,900 หน้า นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหาแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามเย็น มีความสัมพันธ์กับเอกสารจดหมายเหตุของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชุดกระทรวงมหาดไทย และชุดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกสารจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตรัง ชุดมณฑลภูเก็ต

นางสุมลฑริกาญจณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเอกสารชุดนี้ เช่น พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 รวมถึง เสนาบดีกระทรวงต่างๆ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติ สมุหเทศาภิบาลมณฑล ผู้ว่าราชการจังหวัด กรมการจังหวัด เป็นต้น โดยเอกสารสำคัญซึ่งมีคุณค่าที่ค้นพบคือ เอกสารแจ้งการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นำไปสู่การค้นหาพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อยืนยัน ซึ่งพบว่าทรงเสด็จพระราชดำเนินมาที่ จ.จันทบุรี ถึง 6 ครั้ง

Advertisement

นางสุมลฑริกาญจณ์กล่าวอีกว่า โดยเอกสารแจ้งการเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารผ่าตัด “ประชาธิปก” และทรงเปิดป้ายนาม “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” ซึ่งได้สร้าง และจัดตั้งเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังบ้านโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถุงของขวัญแก่นาวิกโยธิน และตำรวจตระเวนชายแดน สิ่งของเครื่องอุปโภคแก่ราษฎร และเครื่องเรียนให้แก่นักเรียน แล้วเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

นางสุมลฑริกาญจณ์กล่าวว่า วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ไปทรงเยี่ยมราษฎรใน อ.ตาพระยา อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี และ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี, วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปทรงเททองหล่อพระประธาน วัดเขาสุกิม พระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน และทรงเยี่ยมราษฎร ณ วัดเขาสุกิม ต.บายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

นางสุมลฑริกาญจณ์กล่าวต่อว่า วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อ.เมือง จ.จันทบุรี และวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดเขื่อน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “คีรีธาร” อ.มะขาม จ.จันทบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารผ่าตัด “ประชาธิปก” และทรงเปิดป้ายนาม “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” ซึ่งได้สร้างและจัดตั้งเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2499(ภาพ1-7)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปยังบ้านโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถุงของขวัญแก่นาวิกโยธินและตำรวจตระเวนชายแดน สิ่งของเครื่องอุปโภคแก่ราษฎร และเครื่องเรียนให้แก่นักเรียน แล้วเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2513
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image