สพฐ.อ่วมถ้าศาลรับฟ้องปม ‘ว24’ เหตุสรรหา 4 พันบิ๊ก ร.ร.ตุลาฯ นี้ชะงักอีก

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีที่นายรังสิมันต์ ยาละ ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี ยื่นฟ้องคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 เพื่อขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสงค์จะยื่นคำร้องขอย้าย ตามหนังสือที่ ศธ 0206.4/ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ในข้อ 1.1 ที่กำหนดว่าผู้อำนวยการ หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันที่ 31 ตุลาคมของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นธรรม และลิดรอนสิทธิของผู้บริหารสถานศึกษาบางกลุ่ม เพราะเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาประจำปี 2559 ตาม ว9 กำหนดให้จังหวัดต้องพิจารณาโยกย้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน หรือภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้ยื่นคำร้อง และได้รับการโยกย้ายระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2559 ตามหลักเกณฑ์ ว9 ขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอย้ายประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคมนี้ เพราะเมื่อนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในสถานศึกษาปัจจุบันจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 แล้วไม่ถึง 24 เดือน ขณะที่ถ้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ใดออกคำสั่งโยกย้ายแล้วเสร็จทันภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กรุงเทพฯ มีคำสั่งโยกย้ายวันที่ 28 ตุลาคม 2559 เป็นต้น ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพม.กรุงเทพฯ จะไม่ขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอย้ายประจำปี 2561 เพราะนับระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารในสถานศึกษาปัจจุบันแล้วเกิน 24 เดือน โดยขณะนี้มีผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง ยื่นฟ้องกรณีดังกล่าวด้วยนั้น ว่า ในการประชุม ก.ค.ศ.ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการประทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สอบถามเรื่องดังกล่าว โดยนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.แจ้งว่า กรณีนี้ศาลยังไม่รับฟ้อง ดังนั้น จึงยังไม่มีการพิจารณาใดๆ

นายบุญรักษ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ถามว่าหากศาลรับฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะได้รับผลกระทบอย่างไรนั้น ยอมรับว่า สพฐ.จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะตอนนี้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาว่างอยู่กว่า 4,000 อัตรา ซึ่ง สพฐ.วางแผนจะดำเนินการคัดเลือกในเดือนตุลาคม 2561 หลังการย้ายในรอบนี้เสร็จสิ้น หากศาลรับคำฟ้องจริง สพฐ.ต้องทำตามคำสั่งศาล ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาในทิศทางใด

“ขณะนี้คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายที่มีนายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน อยู่ระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์ใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ กพฐ.พิจารณา ก่อนขอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จึงหวังว่าการฟ้องร้องครั้งนี้จะไม่เกิดปัญหา สพฐ.สามารถจัดคัดเลือกได้ภายในเดือนตุลาคม” นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องจัดสอบภายในเดือนตุลาคม เพราะเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ครั้งนี้ จะไม่มีการขึ้นบัญชี ดังนั้น การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาในรอบนี้ จะต้องรวมอัตราเกษียณไปในคราวเดียว เพื่อให้ได้จำนวนมากเพียงพอทดแทนอัตราที่ขาดแคลน และต่อไปหากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ใดขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา สามารถแยกสอบเป็นคราวๆ ไป สพฐ.จะไม่กำหนดปฏิทินคัดเลือกพร้อมกันทั่วประเทศอีก หรือหากจะกำหนด ก็อาจจะให้คัดเลือกบ่อยขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูรายละเอียดเบื้องต้นหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่นี้ จะเป็นหลักเกณฑ์ที่ง่ายสำหรับ กศจ.ในการคัดเลือกคนมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ตรงตามความต้องการ สาระสำคัญในการปรับจะเน้นพิจารณาศักยภาพตัวบุคคลมากกว่าการสอบข้อเขียน หรืออาจจะไม่มีการสอบข้อเขียนเลย แต่ทั้งหมดยังไม่นิ่งอยู่ระหว่างการยกร่าง คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม หรือไม่เกินเดือนกันยายน จะเสนอ ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบเพื่อเตรียมประกาศรับสมัครคัดเลือกภายในเดือนตุลาคม” นายบุญรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image