เปิดร่าง ‘แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา’ ความหวังใหม่พัฒนาการศึกษาไทย

การปฏิรูปการศึกษาไทย เริ่มมีความหวังขึ้นมา หลังจากที่สภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จัดทำร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … พร้อมทั้งจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อสร้างระบบและกลไกให้การศึกษาไทยทะลุกรอบ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและยกระดับการศึกษาของประเทศให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่ 

ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ช่วงระยะเร่งด่วนที่ กอปศ. ปฏิบัติหน้าที่ ช่วงระยะเวลา 5 ปี และระยะเวลา 10 ปี โดยการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจะสมบูรณ์ 100%  ภายใน 10 ปี ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ หน่วยงานนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานปฏิบัติ

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยถึงการจัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ว่า กอปศ. หารือร่วมกัน ว่าทำไมการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมาถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการวิเคราะห์พบว่า หัวใจสำคัญที่สุดของการปฏิรูป คือ ทำอย่างไรให้เกิด “การปฏิบัติจริง” ต่างหาก คือ หัวใจสำคัญ นอกจากการปฏิบัติจริงแล้ว การติดตามทบทวน เพื่อนำมาปรับปรุง รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาให้มาร่วมปฏิรูปเพื่อให้ระบบการศึกษาไม่ติดกรอบ ติดอยู่หน้ากระดานเหมือนเดิม

Advertisement

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า กอปศ. ร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แบ่งได้ 6 ประเด็น คือ 

1.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการบริหารและจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ 

2.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวันเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งต้องใช้แผนปฏิรูปนี้ร่วมกับ ร่าง พ.ร.บ. พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. …. ที่ กอปศ. เตรียมผลักดันอยู่ในขณะนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่การศึกษาในอนาคต ให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องในการพัฒนา ร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย ลดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย

Advertisement

3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วถึง เต็มศักยภาพ และสามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือนักเรียน เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้ทุกคนมีความเสมอภาคในโอกาสพัฒนาตนเองตามศักยภาพ 

4.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ เนื่องจากการผลิตครูในปัจจุบันเป็นระบบเปิด คือ ทุกคนสามารถเข้าเรียนครูในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ แต่ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ จะมีการปรับให้ระบบการผลิตครูด้วย กล่าวคือ การผลิตครูในระบบปิด โดยมีกองทุนผลิตและพัฒนาครู ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเรียนครู พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษา คัดเลือกสถานบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครู ให้ผู้รับทุนเข้าศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของประเทศ

5.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ในแผนการปฏิรูปการศึกษา เน้นการปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) เป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน นอกจากจะพัฒนาหลักสูตรใหม่แล้ว ต้องพัฒนาสื่อการเรียนการสอน หรือ Digital Platform เพื่อให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน ตามหลักสูตรสมรรถนะแกนกลางนี้ มีการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อ มีระบบการประกัน การประเมิน และการรับรองคุณภาพการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และมีระบบความรับผิดชอบทางการศึกษา (Educational Accountability) รวมถึงปฏิรูปอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกด้วย และ 6.การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ซึ่งส่วนนี้ กอปศ. กำหนดหลักการที่สำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างหรือ บทบาทหน้าที่อำนาจของหน่วยงานด้านการศึกษาไว้ ต้องใช้หลักประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญ เพราะฉะนั้นต่อไปหน้าที่ของหน่วยงานด้านการศึกษาจะแยกให้ชัดว่า ส่วนไหนเป็นงานนโยบาย  งานทางด้านการกำกับดูแล  งานด้านการสนับสนุน และงานทางด้านดำเนินการหรือปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ต้องมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ตามที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ กำหนดไว้ เพื่อทำหน้าที่ติดตามประเมินผลและดำเนินการตามแผนปฏิรูปการศึกษาฉบับนี้

“กอปศ. ความมีความคาดหวัง และมีเป้าหมายที่เราอยากให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่ง กอปศ. ตั้งวัตถุประสงค์สำคัญ คือ “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เชื่อว่าแผนปฏิรูปนี้สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง เช่น กลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ กลุ่มคนพิการ และกลุ่มคนที่เคยถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังระบบการศึกษา พวกเขาเหล่านี้จะสามารถเรียนได้ตามศักยภาพและความถนัดของตน โดยผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วัตถุประสงค์ต่อมาเพื่อ “ยกระดับคุณภาพการศึกษา” ไม่ว่าจะยกระดับครูผู้สอน หลักสูตรการเรียนการสอน เป็นต้น ท้ายสุดผมเชื่อว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จะสามารถสร้างสมรรถนะของผู้เรียนได้จริง เพียงแต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น  5-10 ปี หลายคนเกิดคำถามว่าทำไมถึงใช้เวลานาน เพราะการศึกษาต้องใช้เวลาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระทันหันได้” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

ร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ถือเป็นความหวังใหม่ของการศึกษาไทย ที่ประชาชนทุกคนต่างจับตามองว่าแผนการปฏิรูปการศึกษาฉบับนี้ จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าไปในทิศทางไหน อย่างไรก็ตามหากผู้อ่านสนใจ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษา สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างแผนการปฏิรูปฯ ภายในวันที่ 28 สิงหาคม เพียงคลิ๊ก http://bit.ly/2OzuV3Z

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image