สภาวิชาชีพโต้ ประเมินหลักสูตรทุก5ปีเพื่อปรับให้ทันสมัย ซัดกลับขนาดคุมเข้ม-ปัญหายังอื้อ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายสมชาย วิริยะยุทธกร ประธานอนุกรรมการพัฒนาวิชาการ สภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สภาวิชาชีพ 11 วิชาชีพ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ…. ซึ่งได้ตัดอำนาจของสภาวิชาชีพไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและการรับรองหลักสูตรต่างๆ โดยให้สภาวิชาชีพมีหน้าที่เพียงแค่สอบประเมินบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเพื่อรับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพเท่านั้น โดยมองว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมาตรฐานและคุณภาพของบัณฑิตที่จะเข้าสู่วิชาชีพต่างๆ และจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนและสังคม ในวงกว้าง ขณะที่มหาวิทยาลัยมองว่าการกำหนดรายละเอียดหลักสูตรต่าง ๆ ของสภาวิชาชีพไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แนะว่าทั้งสองฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากัน โดยสภาวิชาชีพควรมองมุมใหม่นั้น ว่า หากไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และให้มีหน้าที่เพียงสอบประเมินบัณฑิต จะทำให้ขาดคนดูแลมาตรฐาน โดยในส่วนของสาขาเทคนิคการแพทย์ เข้าประเมินและเตรียมความพร้อมให้มหาวิทยาลัยที่จะเปิดสอนในสาขานี้ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นมาตรฐานเดียวกัน สภาวิชาชีพเข้าไปช่วยในลักษณะกัลยาณมิตร เข้าไปเสนอแนะ ไม่ใช่ใช้อำนาจ ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยยังมีอิสระ อีกทั้งหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าว ยังมาจากการหารือร่วมกับคณบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้เป็นการบังคับให้มหาวิทยาลัยต้องทำตาม

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ถ้าต่อไปไม่ให้ภาวิชาชีพเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อม อนาคตจะเกิดปัญหากับมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งน่าเป็นห่วง นักศึกษาที่เรียน เพราะขนาดมีสภาวิชาชีพคอยดูแลแนะนำก็ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชน 1-2 แห่ง ที่ยังมีปัญหา หากให้สภาวิชาชีพไปประเมินที่ปลายน้ำ แล้วนักศึกษาสอบไม่ผ่าน ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เกิดผลเสียกับนักศึกษา และไม่สามารถย้อนเวลา 4 ปีกลับไปได้ ถึงตอนนั้นใครจะรับผิดชอบ คนที่ส่งลูกมาเรียน ก็คิดว่าเมื่อจบแล้วจะได้ทำงานทันที บางคนกู้เงิน ขายที่นาเพื่อให้ลูกเรียน แต่สุดท้ายกลับทำงานไม่ได้ เพราะสอบไม่ผ่าน ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ

“ถ้าสภาสามารถเข้าไปดูแลได้ตั้งแต่ต้นน้ำ และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เชื่อว่าปัญหาจะไม่เกิด ส่วนที่มองว่าการเข้าไปดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนของสภาวิชาชีพไม่ทันสมัยนั้น ยืนยันว่าไม่จริง เพราะวิชาการของสภาวิชาชีพเกิดจากการหารือร่วมกับคณบดี ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนและปรับตัวตลอดเวลา เรากำหนดประเมินสถานศึกษาในทุก ๆ 5 ปี เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรใหม่ ๆ ดี ๆ ก็จะนำมาใส่ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตลอด ไม่ใช่ล้าหลัง” นายสมชายกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2561 กำหนดไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปก้าวก่ายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย นายสมชาย กล่าวว่า การกำหนดดังกล่าวมีที่มาที่ไป สภาวิชาชีพเองเคยแย้งไปแล้วว่าจะเกิดผลเสีย ทั้งที่ความจริงแล้วสภาวิชาชีพเข้าไปช่วย เสริมสร้างความเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนได้มาตรฐาน ดังนั้นถ้ามหาวิทยาลัยใจกว้างพอ มองที่ประโยชน์สูงสุดของนักศึกษา และไม่มีเรื่องผลประโยชน์มาบดบัง ก็น่าจะทำงานร่วมกันได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image