ไทย-กัมพูชา ดราม่าอีกนาน! ย้อนอ่าน ‘โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน ไม่ใช่ของใครฝ่ายเดียว’ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

กลายเป็นประเด็นเต็มโซเชียลอีกรอบ เมื่อชาวกัมพูชาเข้าไปคอมเม้นต์ล้นเพจ ‘ยูเนสโก’ ถึงกรณีที่ประเทศไทยส่ง ‘โขน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยเน้นย้ำว่า โขน เป็นของกัมพูชา อ่านข่าว ชาวเน็ตเขมรบุกเพจ ‘ยูเนสโก้’ ชี้ ‘โขน’ เป็นของกัมพูชา จวกไทยก๊อปปี้

ประเด็นนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน เคยเขียนบทความ ‘โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน ไม่เป็นของใครฝ่ายเดียว หรือพวกเดียว’ เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2559 ดังนี้

โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน มีในหลายประเทศ อาจเรียกชื่อต่างๆ กันตามท้องถิ่น แต่หลักฐานพบเก่าสุดในกัมพูชา แล้วส่งแบบแผนให้ไทย, ลาว, พม่า ฯลฯ
โขนควรเป็นมรดกร่วมของกัมพูชา, พม่า, ไทย, ลาว ฯลฯ

ถ้าพิจารณาเฉพาะไทยกับกัมพูชา จะพบว่ามีบรรพชนร่วมกัน อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เห็นได้จากกรุงศรีอยุธยาเป็นมรดกจากวัฒนธรรมกัมพูชา ผ่านรัฐละโว้ (ที่ ลพบุรี)
พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยายุคแรกๆ ตรัสภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน แต่เปลี่ยนเป็นภาษาไทยในสมัยหลัง แล้วยกย่องภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์

Advertisement

ไทยกับกัมพูชา ดราม่าอีกนาน

คนไทยกับคนกัมพูชา ยังดราม่าทางวัฒนธรรมอยู่เรื่อยๆ และอีกนาน สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกค้างจากยุคอาณานิคม แล้วทุกฝ่ายไม่ยอมถอนตัวออกจากหลุมดำอำมหิตนั้น
อาเซียน ต้องร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรมด้วย มิใช่มีด้านเดียวที่เศรษฐกิจ แต่ทุกประเทศมุ่งด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แล้วปล่อยตามยถากรรมด้านสังคมวัฒนธรรม จึงมีประเด็นปะทะกันทางโซเชียล และทางอื่นๆ อยู่เนืองๆ ล่าสุดคือโขน ระหว่างไทยกับกัมพูชา

ความขัดแย้งทางสังคมวัฒนธรรมจะลดลงหรือเลิกราไป ก็โดยร่วมกันชำระประวัติ ศาสตร์อุษาคเนย์ ให้พ้นจากการครอบงำของแนวคิดอาณานิคมยุคล่าเมืองขึ้น โดยเริ่มต้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อหลายแสนหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว เป็นแผ่นดินเดียวกันตั้งแต่ภาคพื้นทวีปกับกลุ่มเกาะ
และเป็นคนเหมือนกัน แต่ยังไม่มีชื่อชาติพันธุ์ (หรือมีแล้วแต่ไม่มีหลักฐานจะรู้ได้) ยังไม่มีรัฐชาติ แต่นับถือเหมือนกันในศาสนาผี

มีความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมจนปัจจุบัน เช่น กินข้าว, กับข้าวเน่าแล้วอร่อย, ขวัญ, พิธีศพ, พิธีเลี้ยงผีขอฝน, อยู่เรือนเสาสูง ฯลฯ ร้องรำทำเพลง (นาฏศิลป์และดนตรี) โขนละคร เหมือนกันหมดทั้งอาเซียน (ต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย) เพราะเป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่มีใครเป็นเจ้าของฝ่ายเดียวหรือพวกเดียว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image