จี้ ‘กรุงเทพคริสเตียน’ ชี้แจงจัดสัมมนาเหยียดเพศ หวั่นผลิตซ้ำความรุนแรงต่อเพศหลากหลาย

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ภาคีเครือข่ายสิทธิความหลากหลายทางเพศออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาคมผู้ปกครองและครูและผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยพิจารณาทบทวน การจัดสัมมนา “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน”

แถลงการณ์เรื่อง “ยุติการเกลียดกลัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและผลิตซ้ำความรุนแรงในโรงเรียน” ระบุว่า ด้วยหัวข้อสัมมนาในวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 นี้ เรื่อง “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (PTA) ทางภาคีเครือข่ายสิทธิความหลากหลายทางเพศ เห็นว่า หัวข้องานสัมมนาของเป็นการเลือกปฏิบัติ สร้างความเกลียดกลัวบุคคลกลุ่มหลากหลายทางเพศ และเกิดอคติทางเพศ ในการที่ท่านใช้ชื่อสัมมนานี้กำลังสร้างความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงในพื้นที่สาธารณะที่มีการแชร์ชื่องานสัมมนาและรายละเอียดของงานนี้ออกไป รวมถึงทำให้สาธารณชนเข้าใจไปว่า ผู้จัดงานสัมมนา และผู้ที่เกี่ยวข้องอาจมีทัศนคติในแง่ลบเกี่ยวกับประเด็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์อันดีงามของโรงเรียนซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำระดับประเทศแห่งนี้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทางสถาบันของท่านยังได้จัดสัมมนาหัวข้อในประเด็นใกล้เคียงกันมาก่อน เช่น “เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นผู้ชาย” ซึ่งได้สร้างข้อกังขาในหมู่ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมากเกี่ยวกับแนวทางการให้การศึกษาและทัศนคติของสถาบันของท่าน

คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นคำที่สะท้อนความไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี จึงเกิดอคติทางเพศ ต่อบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด โดยคำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” หรือ “Sexual Deviation” เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อตีตรา กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อ ของการถูกตีตรานั้น เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ และคำนี้ได้ถูกถอดถอนจากบัญชีรายชื่อที่ใช้อธิบายกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไปเมื่อหลายปีมาแล้ว โดย World Health Organization

Advertisement

แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เขียนบทความเรื่อง เลี้ยงลูกนอกบ้าน และได้ให้ข้อเท็จจริงและเปิดมุมมองต่อประเด็นนี้ โดยมีความตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่หมออยากเขียนถึงให้เราทำความเข้าใจในทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ “เพศ” ไม่ใช่เรื่องของ “อวัยวะเพศ” แต่มนุษย์มีอวัยวะทางเพศที่สำคัญอีกอัน คือ ‘สมอง’” และท่านสามารถปรึกษาคลินิกเพศหลากหลาย (Gender Variation Clinic, หรือ Gen V Clinic) ได้ในการเตรียมจัดสัมมนาหัวข้อลักษณะนี้

ณ ปัจจุบัน หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามผูกพันไว้ อาทิ หลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principle) ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในวิถีทางเพศ (Sexual Orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) และต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห้ามการเลือกปฏิบัติ และห้ามการกระทำด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ

อีกทั้ง พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า การกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีการปฏิบัติโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทำมิได้ ซึ่งคำว่า “เพศ” นั้น พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลทุกเพศ รวมถึงบุคคลที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศที่กำเนิดด้วย

Advertisement

คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ที่ท่านได้เลือกมาใช้ในชื่อการสัมมนาในครั้งนี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงการรู้ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในเชิงวิชาการ ด้านกฎหมายในประเทศ ด้านกฎหมายและหลักปฏิบัติระหว่างประเทศ และด้านสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย วิทยากร และผู้อำนวยการโรงเรียนว่า ขาดความระมัดระวัง และความตระหนักรู้ถึงเรื่องที่เป็นประเด็นอ่อนไหวและเป็นประเด็นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปของสังคม

คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” อาจส่งผลกระทบถึงนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ พวกเขาจะมีทัศนคติในแง่ลบต่อตัวเอง เกิดปมด้อย และสร้างความตกต่ำด้านการเห็นคุณค่าในตัวเอง ด้วยคำๆ นี้ถูกใช้โดยบุคคลระดับผู้เป็นศาสนจารย์และมีสมาคมผู้ปกครองและครู รวมถึงโรงเรียนให้การรับรอง และสร้างความแตกแยกในหมู่นักเรียนที่อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งคนที่แตกต่างหลากหลายทางเพศ

คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ทำให้กระบวนการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งได้ตราเป็นพระราชบัญญัติแล้ว ได้รับผลกระทบ ด้วยสถาบันของท่านเป็นที่เคารพนับถือ และมีชื่อเสียง ทำให้สังคมสับสน และก่อให้เกิดความกังวล ความสงสัย ความไม่ไว้ใจ และความรังเกียจบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยการนำเสนอเนื้อหา รวมถึงข้อความแนะนำเชิญชวนการสัมมนาของท่านในเพจได้สร้างปมต่างๆ เหล่านี้

คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” และการจัดสัมมนาของท่านในครั้งนี้ แม้จะเป็นการจัดภายใน แต่ได้มีการป่าวประกาศทางสาธารณให้รู้โดยทั่วกัน ซึ่งขัดแย้งกับทิศทางที่ประเทศไทยกำลังดำเนินไปในเรื่องการสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

ทางภาคีเครือข่ายสิทธิความหลากหลายทางเพศ จึงขอให้ท่านชี้แจ้ง เหตุผล และที่มาที่ไป รวมถึงกระบวนการคิด ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และหากผลการชี้แจงของท่านเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และเป็นที่เข้าใจถูกต้องกับทุกๆ ฝ่าย ภาคีเครือข่ายฯ ขอเรียนเชิญนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และอาจารย์ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้อำนายการโรงเรียน ร่วมหารือ และเป็นกลไกร่วมมือสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ต่อไป

อนึ่งทางภาคีเครือข่ายฯ มีความประสงค์ให้ท่านสื่อสารด้วยการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อการอ้างอิงต่อสาธารณชน หรือท่านจะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางภาคีเครือข่ายฯ มีความยินดีที่จะส่งตัวแทนไปร่วมการแถลงข่าวของท่าน ขอให้ท่านเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนและสถาบันของท่านต่อไป

องค์กรภาคีเครือข่ายสิทธิความหลากหลายทางเพศ ประกอบด้วย

1. โรงน้ำชา (Together for Equality and Action – TEA)

2. Non-Binary Thailand

3. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For-sogi)

4. รายการ Pink Mango

5. สำนักพิมพ์สะพาน

6. Bangkok Rainbow Organization

7. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

8. สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

9. มูลนิธิเอ็มพลัส

10. มูลนิธิซิสเตอร์

11. องค์กรพิ้งค์มังกี้เพื่อความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image