เปิดใจ ‘ศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก’ ที่ 1 เนติฯ เกียรตินิยม รุ่นที่ 70 ปี’60

วารสารข่าวเนติบัณฑิตยสภา ประจำเดือนสิงหาคม 2561 (ฉบับพิเศษ เนื่องในวันรพี) ได้เผยคำให้สัมภาษณ์ของนายศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เนติบัณฑิตที่สอบไล่ได้ลำดับที่ 1 (เกียรตินิยม) สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 โดยมีรายละเอียดดังนี้

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560 นี้ มีผู้สอบไล่ได้ชั้นความรู้เนติบัณฑิต ลำดับที่ 1 (เกียรตินิยม) คือ นายศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นบัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คนแรกที่สำเร็จด้วยคะแนนเกียรตินิยม มีคะแนนสอบไล่เกิน 80 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ใน 3 สาขาวิชา จาก 4 สาขาวิชาที่สอบ คือ วิชากฎหมายแพ่งสอบได้ 82.5 คะแนน วิชากฎหมายอาญาสอบได้ 79 คะแนนวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สอบได้ 82 คะแนน และวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สอบได้ 80 คะแนน

โดยที่ผ่านมานั้น สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้ดำเนินการสอนและจัดสอบไล่ความรู้ชั้นเนติบัณฑิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 มีนักศึกษาที่ได้รับเกียรตินิยมเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ได้แก่ 1.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ สมัยที่ 29 ปีการศึกษา 2519 2.น.ส.สุวิชา อวยชัย (นาควัชระ) สมัยที่ 34 ปีการศึกษา 2524 3.น.ส.ฐิติมา แซ่เตีย สมัยที่ 63 ปีการศึกษา 2553 และ 4.นายรวิน ถกลวิโรจน์ สมัยที่ 68 ปีการศึกษา 2558

ฉะนั้น นายศิริวัฒน์ คำสิงห์นอก ถือนับเป็นคนที่ 5 ที่สอบเนติบัณฑิตได้เกียรตินิยม โดยนายศิริวัฒน์ ชื่อเล่น เจมส์ อายุ 23 ปี จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จบนิติศาสตรบัณฑิตจาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แรงจูงใจการเลือกศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีดังนี้

Advertisement

“ก่อนอื่นต้องขอกล่าวก่อนว่าผมนั้นไม่ใช่คนเก่งอะไร ผมจบมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยเกรดเฉลี่ยเพียง 2.46 ที่ผมมาเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพนั้น เป็นเพราะเพื่อนชวนให้มาเรียนด้วย ประกอบกับขณะนั้นผมยังไม่ได้ไปรายงานตัวเพื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ผมแอดมิสชั่นส์ติดคณะเศรษฐศาสตร์ ผมจึงได้ตัดสินใจมาเรียนกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผมยอมรับว่าในขณะที่ผมเรียนปีหนึ่งผมไม่ได้มีเป้าหมายอะไรกับการเรียนคณะนิติศาสตร์ แต่พอขึ้นปีสองผมเริ่มมีความฝัน มีเป้าหมายในชีวิต ผมจึงเริ่มจริงจังกับการเรียน เริ่มอ่านหนังสือแบบจริงจัง ผมจึงชอบสาขาวิชานิติศาสตร์ตั้งแต่นั้นมา สำหรับกิจกรรมที่ทำระหว่างเรียน ผมเคยไปออกค่ายที่หมู่บ้านแอโก๋ แสนคำลือ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อนำความรู้กฎหมายในเรื่องสัญชาติไปช่วยเหลือชาวเขาซึ่งมีปัญหาในการได้รับสัญชาติไทย”

มีแนวคิดและมุมมองอย่างไรต่อวงการกฎหมาย
“กฎหมายนั้นมีขึ้นเพื่อเป็นกรอบให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ซึ่งหากไม่มีกฎหมายแล้ว สังคมอาจอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ยาก เพราะความคิดของแต่ละคนแตกต่างกัน โดยส่วนมากมักคิดว่าความคิดของตนเองถูกต้องเสมอ โดยไม่ลองมองในมุมความคิดของคนอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงในสังคม ไม่มีกรอบที่แน่นอนตายตัวเหมือนดังเช่นการมีกฎหมาย แต่กฎหมายนั้นก็ใช่ว่าจะถูกต้องและเป็นธรรมเสมอไป หากแต่ขึ้นอยู่กับผู้ใช้กฎหมาย หากผู้ใช้กฎหมายใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมก็จะสามารถสร้างความสงบสุขให้กับสังคมได้ แต่หากใช้กฎหมายในทางที่มิชอบกฎหมาย ก็จะเป็นอาวุธของผู้ใช้กฎหมายในการบังคับเอารัดเอาเปรียบ แต่ผู้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย ผมจึงเห็นว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่มีส่วนสำคัญมากในการที่จะให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข

การเตรียมตัวเมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
คิดว่าแตกต่างหรือหนักกว่าสมัยเรียนปริญญาตรีหรือไม่
“การเรียนเนติบัณฑิตกับชั้นปริญญาตรีนั้น ผมเห็นว่าการเรียนเนติบัณฑิตเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าการเรียนในระดับชั้นปริญญาตรี เนื่องจากการเรียนในระดับชั้นปริญญาตรี เป็นการเรียนวิชาต่างๆ เช่นเดียวกับชั้นเนติบัณฑิต แต่ในระดับชั้นปริญญาตรี เป็นการเรียนแยกกฎหมายแต่ละเรื่องออกจากกันเป็นเทอมๆ ไป จึงทำให้มีเวลาว่างมากกว่าการเรียนในชั้นเนติบัณฑิต เพราะการเรียนเนติบัณฑิตนั้น เป็นการเรียนกฎหมายที่เรียนในชั้นปริญญาตรีทั้งหมดพร้อมกัน จึงทำให้เนื้อหาในการเรียนมีมากจึงไม่ค่อยมีเวลาว่าง ฉะนั้นผมจึงเตรียมตัวก่อนเปิดภาคเรียนด้วยการอ่านก่อน”

Advertisement

การวางแผนอ่านหนังสือ วิธีการอ่านหนังสือรวมคำบรรยาย
“การอ่านหนังสือของผมนั้น ผมจะใช้วิธีอ่านล่วงหน้าให้จบเป็นรายวิชาไปเพราะการอ่านแบบเป็นรายวิชาจะช่วยให้เข้าใจไม่สับสนเนื้อหาว่าอยู่ในเรื่องใด ส่วนการอ่านวิชาใดก่อนหลังนั้น ผมมักจะอ่านให้จบเป็นข้อๆ ไป โดยดูแนวข้อสอบเพื่อดูว่าแต่ละข้อมีวิชาอะไรบ้าง โดยไม่จำกัดว่าจะต้องอ่านวิชาใดก่อนหลัง ซึ่งหนังสือที่ผมใช้อ่านล่วงหน้า ผมจะอ่านจากคำบรรยายของสมัยก่อนหน้า แต่หากคำบรรยายเรื่องใดที่ผมอ่านไม่เข้าใจผมก็จะหาหนังสือคำอธิบายในเรื่องนั้นๆ จากห้องสมุดอ่าน หรือซื้อเก็บไว้ใช้ส่วนตัวบ้างในบางวิชา
เนื่องจากผมเข้าเรียนในภาคปกติด้วยผมจึงมีเวลาอ่านในแต่ละสัปดาห์ไม่มากนัก แต่ถึงอย่างไร ผมก็จะต้องอ่านคำบรรยายของสมัยปัจจุบันให้จบสัปดาห์ละ 1 เล่ม ผมจึงอ่านคำบรรยายของสมัยปัจจุบันให้จบสัปดาห์ละ 1 เล่ม ผมจึงอ่านคำบรรยายของสมัยปัจจุบันทุกวันจันทร์ถึงศุกร์หลังเลิกเรียน โดยจะอ่านให้จบวันละโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 บท (หนึ่งบท=อาจารย์ผู้สอน 1 ท่าน) วิธีการอ่านของผมนั้น ผมจะมีสมุดแยกเป็นรายวิชา เพื่อจดข้อสังเกตหรือประเด็นที่สำคัญตามฎีกาไว้ในสมุดเล่มนั้นเพื่อง่ายต่อการทบทวน”

การแบ่งเวลาเข้าฟังการบรรยายภาคปกติ ภาคค่ำ ภาคทบทวนวันอาทิตย์
“การเข้าฟังคำบรรยายนั้น เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญ เพราะการฟังคำบรรยายจะทำให้เข้าใจได้มากกว่าการอ่าน อีกทั้งการเข้าฟังคำบรรยายอาจารย์บางท่านอาจจะมีการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามฎีกาต่างๆ ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งคำวิเคราะห์ของอาจารย์แต่ละท่านนั้นอาจไม่มีพิมพ์ในคำบรรยาย ส่วนการเข้าฟังคำบรรยายนั้น ผมจะเข้าฟังเฉพาะภาคปกติเพราะหากผมเข้าฟังในภาคค่ำหรือภาคทบทวนด้วยแล้วผมก็จะไม่มีเวลาที่จะอ่านหนังสือเลย ผมจึงเข้าฟังเฉพาะภาคปกติเท่านั้น”

การท่องตัวบทกฎหมาย
“การท่องตัวบทผมจะท่องตัวบทตั้งแต่ในครั้งแรกที่อ่านหรือฟังคำบรรยายของมาตรานั้นๆ เลย เพราะผมคิดว่าการจำตัวบทจะทำให้เราจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น แล้วผมก็จะมีตารางทวนตัวบท การท่องตัวบทผมจะพยายามจำคำในตัวบทให้ได้มากที่สุด เพราะคำในตัวบทสามารถนำไปใช้เขียนตอบข้อสอบได้ดี

กลุ่มวิชาใดที่รู้สึกว่ายากและไม่ถนัด มีวิธีแก้ไขอย่างไร
“กลุ่มวิชาที่ผมคิดว่ายากที่สุดนั้น คือกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะกฎหมายแพ่งฯนั้นมีเนื้อหาเยอะมาก และการทำความเข้าใจในบางเรื่องก็เข้าใจยาก ผมจึงต้องพยายามหาเวลาทบทวนเนื้อหาของกฎหมายแพ่งฯอยู่เป็นระยะๆ เพื่อที่จะทำให้ไม่ลืม”

เทคนิคอะไรที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการสอบเนติบัณฑิต
การฝึกเขียนตอบข้อสอบ
“การเขียนตอบข้อสอบของผมนั้น ผมจะเขียนข้อสอบแบบ 3 ส่วน กล่าวคือส่วนแรกจะอธิบายตัวบทแบบย่อเฉพาะตามประเด็นที่จะใช้ตอบคำถาม ส่วนที่สองจะปรับข้อเท็จจริงเข้ากับกฎหมาย และส่วนที่สามจะสรุป เช่น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของนายขาวและนายดำว่านายเหลืองไม่มีอำนาจฟ้องนั้นฟังขึ้นหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติถึงบุคคลที่มีอำนาจฟ้องไว้ในมาตรา 28 คือ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายหมายถึงบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งการพิจารณาถึงความเป็นผู้เสียหายนั้นจะต้องพิจารณาในขณะที่จำเลยกระทำความผิดและความเป็นผู้เสียหายนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่อาจโอนแก่กันได้เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายขาว เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของนายเหลืองในคดีแพ่งที่พิพากษาให้นายขาวชำระเงินแก่นายเหลืองภายหลังจากทราบว่าศาลมีคำพิพากษา นายขาวเกรงว่าที่ดินของตนซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่ตนมีอยู่จะถูกบังคับคดีจึงได้นำไปโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยมีนายดำเป็นผู้สนับสนุนให้นายขาวกระทำความผิดอันเป็นการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เมื่อในขณะที่นายขาวและนายดำกระทำความผิด นายเหลืองยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ การกระทำของนายขาวและนายดำจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายเหลืองในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดินดังกล่าว นายเหลืองจึงเป็นผู้เสียหาย จากการกระทำความผิดของนายขาวและนายดำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) แม้ต่อมานายเหลืองจะได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่นายฟ้าไปก็หามีผลลบล้างความเป็นผู้เสียหายของนายเหลืองไม่ เพราะการเป็นผู้เสียหายนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้ ดังนั้นเมื่อนายเหลืองเป็นผู้เสียหาย นายเหลืองจึงมีอำนาจฟ้องนายขาวและนายดำในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28 (2) ข้อต่อสู้ของนายขาวและนายดำที่ว่านายเหลืองไม่มีอำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น

การใช้ถ้อยคำสำนวนในการเขียนคำตอบ
“เนื่องจากผมชอบอ่านคำพิพากษาเพราะชอบถ้อยคำในคำพิพากษา ผมจึงมักจะจำคำเหล่านั้นเพื่อเอามาเขียนวินิจฉัยและผมยังได้ฝึกเขียนอยู่เป็นระยะๆ เพื่อที่จะทำให้ชินกับภาษาที่ใช้เขียน และให้คำที่ใช้เขียนตอบข้อสอบในคำวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือถ้อยคำในตัวบท ผมจึงมักพยายามจำถ้อยคำในตัวบทให้ได้มากที่สุดเพื่อนำไปใช้เขียนตอบข้อสอบอีกด้วย”

การปฏิบัติตัวในห้องสอบ
“เมื่อถึงวันสอบตื่นเช้าขึ้นมาอย่างแรกที่ผมทำคือ ทำสมาธิ ด้วยการฟังเพลงที่ช่วยให้ทำสมาธิ แล้วก็อ่านข้อสังเกตหรือประเด็นที่สำคัญตามฎีกาที่จดไว้ในสมุด โดยจะพยายามไม่ทำให้ตนเองเครียดในวันนั้น เพราะจะต้องให้สดชื่นที่สุดตอนเข้าห้องสอบ ก่อนเข้าห้องสอบผมจะคิดไว้เลยว่าจะทำข้อสอบข้อไหนก่อน โดยจะไม่อ่านคำถามทั้งหมดก่อน เพราะผมเคยใช้วิธีนี้แล้วตอนชั้นปริญญาตรี แล้วผมทำข้อสอบไม่ทัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล ผมจึงได้ใช้วิธีกำหนดข้อที่ตัวเองมั่นใจไว้ก่อนแล้วทำข้อสอบตามที่กำหนดไว้เลย”

เน้นอ่านเพิ่มเติมในวิชาใดเป็นพิเศษบ้าง
“การอ่านหนังสือของผมนั้น จะใช้วิธีอ่านไปพร้อมๆ กับการจดข้อสังเกตหรือฎีกาที่สำคัญไปพร้อมๆ กันเลย และในขณะเดียวกันก็จะท่องจำตัวบทด้วย เพราะผมคิดว่าการจำตัวบทได้จะเป็นกรอบให้เราจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ส่วนวิธีอ่านนั้นผมจะพยายามนึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในหัว และเมื่ออ่านจบมาตราไหนแล้วผมก็มักจะอธิบายออกมาให้ตัวเองฟัง มันก็จะช่วยให้จำได้มากขึ้น”

ในอนาคตอยากเป็นอะไร แล้วคิดว่าจะนำความรู้ด้านกฎหมายไปพัฒนาอะไรบ้าง
“ในอนาคตผมอยากเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นอาจารย์สอนกฎหมายครับ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผมก็จะนำความรู้กฎหมายของผมไปสอนนักศึกษา หรือนำไปใช้ในทางที่ถูก ไม่เอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี เพราะกฎหมายก็เหมือนดาบสองคม หากใช้ในทางที่ถูกก็จะสามารถก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ แต่หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบกฎหมายก็จะกลายเป็นสิ่งที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ประชาชนก็จะมองว่ากฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์”

สุดท้ายนี้ ขอทราบถึง คติประจำใจ วิธีการให้กำลังใจตนเองเมื่อยามที่รู้สึกท้อแท้ และอยากฝากอะไรถึงนักศึกษาสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภารุ่นต่อไป
“วิธีการให้กำลังใจของผมในยามท้อแท้ แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยเจอกับเรื่องแบบนี้รวมถึงตัวผมด้วย อย่างเช่น การสอบเนติบัณฑิตที่ผ่านมาใช่ว่าผมผ่านมาโดยไม่ท้อแท้เลย ผมท้อแท้บ่อยมาก ตลอดทั้งสองภาคการเรียน ซึ่งเมื่อยามที่ท้อแท้ผมมักจะโทรหาพ่อ แม่ หรือตา ยาย แล้วก็พูดให้ท่านฟังว่าผมเป็นอะไรทำไมถึงท้อแท้ เขาก็จะปลอบเราแล้วผมก็จะรู้สึกดีขึ้น
ส่วนคติประจำใจของผมนั้น คือ “ไม่เคยมีใครที่พยายามแล้วไม่ประสบความสำเร็จ” ซึ่งคตินี้ผมใช้บอกตัวเองเสมอในยามที่ผมท้อแท้อีกด้วย
สิ่งที่อยากฝากให้กับนักศึกษาเนติบัณฑิตรุ่นต่อไปว่า ขอให้นักศึกษาทุกท่านอย่าท้อแท้ต่อการศึกษา เพราะการเรียนเนติบัณฑิตนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ใช่ว่าเราจะผ่านมันไปไม่ได้ ผมเองก็ไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่ผมใช้ความวิริยะอุตสาหะในการอ่านหลายๆ รอบ พยายามอย่าให้ตัวเองวอกแวก อย่าคิดว่าตัวเองจะทำไม่ได้ เพราะทุกคนสามารถทำได้หากมีความพยายามสักวันต้องมีวันของเรา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image