‘วิษณุ’ รับตัด ‘3 มาตรา’ สกัดสภาวิชาชีพ ชี้ สนช.ใส่กลับไม่ง่าย

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 11 สภาวิชาชีพ ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … โดยขอให้ตัดมาตรา 64, 65 และ 66 ออกจากร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เนื่องจากไม่ให้อำนาจสภาวิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร และขอให้แก้ไขมาตรา 48 ซึ่งกำหนดว่าสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ออก เพราะการให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ ไม่ใช่หน้าที่ และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษานั้น นายวิษณุรับฟัง และจะนำข้อเสนอของกลุ่มวิชาชีพไปปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทพ.ไพศาลกล่าวต่อว่า ทางกลุ่มสภาวิชาชีพ ได้สอบถามถึงกรณีที่อธิการบดีซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า แม้จะตัดมาตราดังกล่าวออกในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่หาก สนช.เห็นว่ามีความจำเป็น ก็สามารถใส่กลับเข้าไปได้นั้น นายวิษณุระบุว่าแม้จะใส่กลับเข้าไปได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องส่งให้ทางรัฐบาลพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ดังนั้น หาก สนช.จะใส่มาตราเหล่านี้กลับเข้าไป ทางกลุ่มสภาวิชาชีพจะขอเข้าชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น

“การพูดคุยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยนายวิษณุอยากให้สภาวิชาชีพ และมหาวิทยาลัย พูดคุย และทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนของสภาวิชาชีพ อย่างเช่นทันตแพทยสภา ก็มีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัย และให้คำแนะนำมหาวิทยาลัย ปรับปรุงการเรียนการสอนมาโดยตลอด หากมหาวิทยาลัยสามารถปรับได้ เราก็ให้การรับรอง ทางสภาวิชาชีพเป็นห่วงว่าหากให้อิสระเลย จะลำบาก เกิดผลกระทบกับคุณภาพการศึกษา ผู้ปกครอง และนักศึกษาอย่างแน่นอน” ทพ.ไพศาล กล่าว

ทพ.ไพศาลกล่าวต่อว่า นายวิษณุยังสอบถามความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกัน หรือขจัดการกีดกัน หรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา” ซึ่งสภาวิชาชีพตีความว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ในการจัดระเบียบสภาวิชาชีพ แต่ไม่ได้หมายความถึงการรับรองหลักสูตร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image