ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน กับ มหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” พบแนวคิด ทิศทางการพัฒนา สร้างแรงบันดาลใจ เต็มอิ่มตลอดทั้งวัน

เริ่มต้นอย่างเป็นทางการกับมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจัดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับครู ผู้บริหาร นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในสภาวการณ์โลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ทุกประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันเสรี-ไร้พรมแดน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวสู่การพัฒนาบนฐานความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ประเทศไทย 4.0

“การดำเนินการด้านการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งขับเคลื่อน เนื่องจากการศึกษาของไทยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมนานาประเทศ นำไปสู่การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลง”

Advertisement

โดยกำหนดประเด็นการปฏิรูปไว้ 7 ด้าน ประกอบด้วย การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล

ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานมหกรรมนี้เป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการศึกษา ทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และผู้รับบริการ ในมิติต่างๆ ทุกระดับ/ประเภทการศึกษา โดยมีการเชิญผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ นักเรียน-นักศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัยรวมกว่า 2,000 คนเข้าร่วมงาน

Advertisement

“เป้าหมายใหญ่ คือ เราต้องการให้ทุกคนร่วมกันทำงาน ร่วมกันเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา เราเชื่อมั่นว่าถ้าการศึกษาไทยได้รับการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพ จะเป็นส่วนสำคัญให้การช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในที่สุด”

หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจอย่าง Ted Talks สร้างแรงบันดาลใจ “ปลดแอกการเรียนรู้ สู่การพัฒนาประเทศ 4.0” โดยคุณป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร พิธีกรชื่อดัง มากความสามารถ ทั้งงานเบื้องหน้า และเบื้องหลัง และโค้ชพลอย สุชาดา วิจิตรวาณิชย์พงส์  นักพูดผู้สร้างแรงบันดาลใจ โดยทั้ง 2 ท่าน มองว่าการศึกษาไทยรูปแบบใหม่ควรสนับสนุนให้เด็กได้ค้นพบตัวตนโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำมากกว่าการตั้งใจฟังในห้องเรียน เพราะการเรียนรู้จะพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเด็กได้ฝึกประสบการณ์ด้วยตนเอง โดยได้รับการสนับสนุน และมีแรงบันดาลใจที่ดีจากครูผู้มอบความรู้นำไปสู่การพัฒนา

“ปฏิรูปห้องเรียนไทย สู่ห้องเรียนแสนสุข สนุกคิดวิเคราะห์ ยุค 4.0” หนึ่งในหัวข้อเสวนาที่ได้รับความสนใจร่วมรับฟังจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยมีใจความสำคัญจำแนกการเรียนรู้อย่างมีความสุขเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับอนุบาล ที่ครูต้องสังเกตและทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของเด็ก เพราะในวัยนี้การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ในทุกกิจกรรม ซึ่งช่วยพัฒนาทั้งด้านอารมณ์และสติปัญญา ครูจึงควรมีความพร้อมในการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในระดับประถมศึกษา เด็กจะสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของครูได้โดยตรง ครูจึงต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม มีความโอบอ้อมอารี ใช้น้ำเสียงที่เป็นมิตร มีเมตตา และสอนด้วยความสนุก เพราะถ้าครูรู้สึกมีความสุขด้วยใจจริง อารมณ์เหล่านั้นจะถ่ายทอดไปยังเด็ก และทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขณะที่ระดับมัธยมศึกษา ได้มีการยกตัวอย่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนในรูปแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมกับครูและโรงเรียนในการกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ซึ่งครูจะเปิดกว้างให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมทั้งให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบของโรงเรียน สร้างความรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ของเด็กทุกคน จึงนับได้ว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ส่วนระดับอาชีวศึกษา ครูควรเน้นการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง ให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้ในสถานประกอบการ เข้าใจธรรมชาติของนักเรียน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ควบคู่กับสอนทักษะการใช้ชีวิตในลักษณะแม่สอนลูก พี่สอนน้อง เพื่อให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

ภายในงานยังมีกิจกรรมวิชาการที่หลากหลาย ทั้งการเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ การประชุมกลุ่มย่อย ควบคู่กับการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งในรูปแบบนิทรรศการ แผ่นป้าย และการสาธิต กว่า 20 บูธ ใน 6 หัวข้อ ประกอบด้วย นิทรรศการ สกศ. ในปัจจุบันสู่อนาคต การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา การศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา และครูภูมิปัญญาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image