ทางออกการศึกษาไทยกับโครงการวิจัย “PISA”

“หากต้องการวัดความสามารถในด้านการอ่านของเด็กไทยจะทำอย่างไรได้บ้าง และมีหน่วยงานใดศึกษารวบรวมเอาไว้หรือไม่” โครงการวิจัย PISA ถือเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลและสะท้อนความสามารถในด้านการรู้เรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงวัย 15 ปี ของประเทศทั่วโลก แล้วผลสอบ PISA นั้น จะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หรือบ่งชี้อะไรได้บ้าง

ในงานมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” ซึ่งจัดโดย สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา วันก่อนได้มีการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในงานมีการอภิปรายถึง “ประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับนานาชาติจากโครงการวิจัย PISA” ไว้อย่างน่าสนใจอยู่หลายประเด็น

นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เปิดข้ออภิปรายใน 4 ประเด็น ว่า 1) ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ PISA อย่างไร 2) การใช้ประโยชน์จากผลสอบ PISA เป็นแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างไร 3) อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีผลคะแนน PISA ต่ำ และมีแนวทางในการพัฒนาผลการสอบ PISA อย่างไร และ4) อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เวียดนามซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ผลคะแนนสูง และสามารถนำตัวอย่างความสำเร็จของเวียดนามมาใช้กับประเทศไทยได้หรือไม่

Advertisement

นางธันยาการต์ กุลศุภกร ผู้อำนวยการสาขาวิจัยและประเมินมาตรฐาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า “PISA” เป็นโครงการประเมินผลการเรียนนานาชาติ  ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือที่เรียกว่า OECD โดยไทยไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก แต่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมสำหรับการสอบ PISA ในปี 2543 เพื่อเปรียบเทียบระบบการศึกษาของประเทศในกลุ่มสมาชิก ว่ามีความสามารถในการเตรียมความพร้อมของเยาวชนมากน้อยแค่ไหน พร้อมที่จะดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาต่อ การมีงานทำ โดย PISA นั้น จะประเมินนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี 3 เดือน – 16 ปี 2 เดือน ประเมิน 3 ด้าน ทุก ๆ 3 ปี ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังประเมินและวิเคราะห์ผลแยกในเรื่องของสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกด้วย

“เนื่องจากคุณภาพการศึกษาเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถ้าเรามีเยาวชนที่มีคุณภาพ จะบ่งบอกถึงอนาคตของประเทศได้ว่า ในอนาคตของการทำงาน หรือในระบบเศรษฐกิจ จะมีคนทำงานที่มีองค์ความรู้ที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคตได้ PISA ไม่ได้สนใจแต่เรื่องของการที่จะจัดลำดับประเทศเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพระบบการศึกษา แต่มีการทำวิจัยเพิ่มเติม โดยการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ไม่ว่าจะเป็นสภาพบริบทของนักเรียน สถานะทางสังคม การศึกษาของพ่อแม่ หรือว่าทรัพยากรการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนนโยบาย เพื่อที่จะพัฒนาประเทศ เช่นในเรื่องการกระจายงบประมาณ การเสริมในสิ่งที่ขาดเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นั้นๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น”

Advertisement

ทั้งนี้ จากการสุ่มตัวอย่างสอบโครงการ PISA ของไทยปีล่าสุด (2018) พบว่า สัดส่วนการเข้าร่วมกว่า 50% นั้นเป็นนักเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถึง 4,399 คน เป็นนักเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 818 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 1,491 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 763 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 816 คน และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร อีก 833 คน ขณะที่ผลประเมินที่ผ่านมากลุ่ม top 10 อยู่ในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเทียบค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ แล้ว ไทยยังถือว่ามีกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินที่เป็นเลิศ

ด้าน ดร.พุดเตย ตาฬวัฒน์ นักวิชาการ สาขาวิจัยและประเมินมาตรฐาน สสวท. ได้กล่าวถึงข้อสอบ PISA ว่า จะไม่ถามเนื้อหาสาระโดยตรงตามหลักสูตร แต่จะเน้นการวัดสมรรถนะด้านต่างๆ อีกทั้งเน้นการคิดวิเคราะห์และหาคำอธิบาย ซึ่งการสอบจะมีทั้งแบบที่เป็นการเขียนตอบและเลือกตอบ หลักๆ มี 3 วิชา คือ 1) การรู้เรื่องการอ่าน โดย PISA มองถึงสมรรถนะ ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่มองในประเด็นว่าเด็กสามารถที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องที่อ่านได้หรือไม่ ถ้าเข้าใจสามารถเอาเนื้อเรื่องไปใช้ได้หรือไม่ และใช้ประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงเด็กสามารถสะท้อนได้หรือไม่ว่าเรื่องที่อ่านคนเขียนต้องการอะไร และบอกได้หรือไม่ว่าเรื่องที่อ่านมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เป็นต้น 2) การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่แค่การบวก ลบ คูณ หาร  แต่เด็กต้องเข้าใจสภาพปัญหาชีวิตจริง แล้วสามารถแปรเป็นปัญหาคณิตศาสตร์ และใช้หลักคณิตศาสตร์แก้ปัญหาเรื่องนั้นๆ ได้ และ 3) การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เด็กต้องมีความสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เรียนมากับปัญหาหรือสถานการณ์ที่กำหนดให้ เอาความรู้วิทยาศาสตร์ไปอธิบายหรือหาประจักษ์พยานเพื่อสนับสนุนคำตอบ หรือประเมินออกแบบการทดสอบได้อย่างไตร่ตรอง เป็นต้น

 “การเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศ วันนี้โลกก้าวไปเร็วกว่าที่การศึกษาจะพัฒนาคนให้มีสมรรถนะ หรือมีความพร้อมอยู่เสมอในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม PISA ได้มองว่า การขาดแคลนทรัพยากรการเรียนหรือความไม่พร้อมของทรัพยากรนั้น อาจส่งผลเสียต่อความสามารถของนักเรียน ซึ่ง PISA ก็ได้ชี้แนะเรื่องการจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณ ให้เน้นไปที่การพัฒนาครู หนังสือเรียน ซึ่งจะได้ผลกว่าการสร้างตึกหรืออาคาร”

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสาขาวิจัยและประเมินมาตรฐาน สสวท. ยังได้กล่าวถึงปัจจัยเสริมที่ทำให้ผลการสอบของเวียดนามเป็นที่น่าจับตามองของทั่วโลกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เวียดนามซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีผลคะแนนสูง คือ เรื่องวัฒนธรรม ชุมชน ที่มีส่วนร่วมในเรื่องของการศึกษาของบุตรหลาน กับสถานะทางสังคม ครูเป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพนับถือ  ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบเรื่องการลงทุน เวียดนามลงทุนในเรื่องของการศึกษา 21% ขณะที่ไทยลงทุนในเรื่องของการศึกษา 18% โดยส่วนใหญ่ไทยเน้นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าการเน้นที่เนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนรู้ จึงต้องพิจารณากันอีกทีว่ามีส่วนช่วยยกระดับการศึกษาหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเวทีอภิปรายในมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” ที่ได้มีการหารือถึง “ทางออกการศึกษาไทยกับโครงการวิจัย PISA” ประกอบกับงานวิจัยโครงการ PISA เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ สรุปได้ว่า สิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้กับการศึกษาไทยได้ คือ 1) การเพิ่มสมรรถนะขั้นพื้นฐานในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน 2) การมองถึงคุณภาพของการเรียนรู้ เวลาเรียนที่เพิ่มขึ้นนักเรียนได้เรียนรู้จริงหรือไม่ 3) การมองถึงคุณภาพของครู การคัดกรองครูเข้ามาในระบบ สถานะทางสังคม หรือค่าตอบแทนต่างๆ 4) ทรัพยากรการเงินที่เข้าไปในระบบการศึกษา ส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพการเรียนรู้หรือไม่ 5) การสร้างบรรยากาศในการเรียนที่ดี และ 6) การสร้างความเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจส่งผลเชิงบวกต่อการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน

หากมาตรฐานการศึกษาดูได้จาก PISA ประเทศไทยจะเอาผลสอบจากตรงนี้มาดำเนินการยกระดับการศึกษาได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมกันพิจารณา ดำเนินการ แล้วนำสู่การปฏิบัติ จัดระบบการศึกษาของชาติ และเตรียมเยาวชนให้พร้อมสำหรับอนาคตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image