ยูเนสโก แนะการศึกษาต้องมี “คุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง ตลอดชีวิต” 4 กุญแจสู่ความยั่งยืนของการปฏิรูปการศึกษาไทย

เมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ข้อกำหนดต่างๆ ที่มีออกมาเพื่อความผาสุก ความมั่นคงของโลก จึงเป็นภารกิจหนึ่งเดียวกันของประเทศสมาชิก เพื่อให้ประชาชนในแต่ละประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals หรือ SDG) ประเด็นสำคัญที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนา 17 ประการ เช่น การขจัดความยากจน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และการดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยมีประเด็น “การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ” รวมอยู่ด้วย

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีโครงการด้านการศึกษาที่เน้นผลการดำเนินงานอันเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับ SDG โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่วางแผนด้านการศึกษาของประเทศ เป็นหน่วยงานกำหนดแนวทางการจัดทำรูปแบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับ SDG ทั้ง 17 เป้าหมาย

Advertisement

ในงานมหกรรมปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ มีการเสวนาในหัวข้อย่อย เรื่องการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ SDG ระดับนานาชาติ โดยมีผู้แทนจากยูเนสโกและนักการศึกษาจากประเทศไทย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เริ่มด้วย นายนีย์ นีย์ ตอง (Mr.Nyi Nyi Thaung) ผู้แทนจากยูเนสโก ประเทศไทย กล่าวว่า เราต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งประเทศไทยได้นำแนวคิดนี้เข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แม้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะแบ่งระบบการศึกษาออกเป็น การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย แต่สิ่งที่ยูเนสโกเน้น คือ การศึกษาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงกันระหว่างระบบการศึกษาทั้ง 3 ระบบ ไม่ใช่กลุ่มอายุตั้งแต่ 0-25 ปีตามเกณฑ์อีกต่อไป แต่รวมถึงภาคแรงงาน วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณ นับเป็นความพยายามของประเทศและเป็นวาระของโลกที่จะเชื่อมโยงการศึกษาและการฝึกทักษะเข้าด้วยกัน

“ต้องส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เน้นการศึกษาของระดับปฐมวัย เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ถึงอายุ 26 ปี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปใช้ในการทำงานได้ เป็นทักษะที่ตลาดต้องการ เข้าสู่การศึกษาตลอดชีวิต และความเท่าเทียมทางการศึกษาระหว่างผู้ชายและผู้หญิง”

Advertisement

หากมองในเชิงความรู้มี 3 เรื่อง ในการเตรียมตัวเป็นพลเมืองของชาติและสมาชิกของโลกที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ได้แก่ 1.การจัดสภาวะการเรียนรู้ที่เหมาะเอื้อกับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา 2.ใช้ทรัพยากรเป็นสื่อเพื่อให้บุคคลเข้าสู่กระบวนการศึกษาและฝึกอบรม และ 3.การสรรหา ฝึกฝน อบรมเพิ่มเติมทักษะของครู

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข้อมูลว่า โดยรวมเป้าหมายของ SDG เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ในด้านการศึกษาไทยมีกรรมการระดับชาติ ขับเคลื่อนในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และยุทธศาสตร์ของประเทศ มุ่งเป้าการทำงานในเป้าหมายที่ 4 คือ เป้าหมายด้านการศึกษา โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และมีอีกหลายกระทรวงที่เข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ

“มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ระดับชั้นประถมศึกษา ประเทศไทยมีเด็กที่เข้าเรียนคิดเป็นร้อยละ 102 แสดงให้เห็นถึงเด็กสัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา เทียบกับประเทศอื่นแล้ว สถานการณ์ของประเทศไทยค่อนข้างดีกว่าประเทศอื่นพอสมควร ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ เช่น การเรียนฟรีเป็นที่ยอมรับพอสมควร ซึ่งขณะนี้โดยหลักการพยายามให้ครอบคลุมในระดับปฐมวัยด้วย อาจจะมีช่องโหว่บ้างในบางเรื่อง แต่ในอาเซียน ไทยอยู่ในสถานภาพที่ค่อนข้างจะดี ในการจัดสรรโอกาส เรื่องเพศในแง่การศึกษาไม่ค่อยมีประเด็นเท่าไหร่ ในเรื่องการเรียน การทำงาน เงินเดือน ตำแหน่งไม่เหลื่อมล้ำกันมากระหว่างหญิงชาย อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าได้ผลมาก คือ การศึกษาของผู้พิการ มี พ.ร.บ.และกองทุนสนับสนุนคนพิการ ซึ่งในหลายประเทศอาจจะยังไม่มี หลายเรื่องประเทศไทยก้าวไปพอสมควรแล้ว ตอนนี้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในกลุ่มเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส รัฐพยายามส่งเสริมอาชีวศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเร่งผลิตทรัพยากรมนุษย์ในสาขาวิชาที่จำเป็นและกำลังขาดแคลน การวางระบบอาชีวศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องวางระบบให้ตอบสนองและทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้การศึกษาจะต้องปรับให้ได้ภายใน 5-10 ปีนี้”

ข้อสรุปจากการเสวนา ตัวแทนจากไทยและยูเนสโกต่างเห็นต้องกันว่าอยากให้มองการศึกษาเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่ยึดโยงกับเป้าหมายอื่นๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาไม่ได้พัฒนาอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นวาระของโลกในการเชื่อมโยง 17 เป้าหมายเข้าด้วยกัน โดยมีการศึกษายึดโยงกับเป้าหมายอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image