เสนอใช้ม.44 แก้คำสั่งคสช.39/59 คน 60ปีนั่งอธิการฯ ได้ ผู้ช่วยอธิการฯ มรภ.ศรีสะเกษ แสดงสปิริตลาออก

นายกสภามรภ.ยะลาเผยที่ประชุม 58 มหา’ลัยเสนอใช้ม.44 อุดช่องโหว่อายุเกิน 60 ปีนั่งอธิการฯ ได้ ด้านนพ.อุดม ค้าน ทปสท.ซัดต้นเหตุคน 60ปีไม่อยากทิ้งเก้าอี้อธิการฯ เหตุรายรับสูง บางรายรับเดือนละ 5 แสน จี้ 64 ‘รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ที่ปรึกษาอธิการบดี คณบดี ผอ.สำนัก’ อายุเกิน 60 ปีลาออกด้วย เผย ผู้ช่วยอธิการบดีมรภ.ศรีสะเกษ แสดงสปิริตลาออกอีกราย ขณะที่ 2 ม.สงฆ์ยันพระเกิน 60 ปีนั่งอธิการบดีได้ เหตุเป็นม.นอกระบบ

กรณีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) หารือร่วมกับนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกสภามหาวิทยาลัย จำนวน 58 แห่งเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสถาบันศึกษาของรัฐที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและที่อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอแต่งตั้งบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)กาญจนบุรี ในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมรภ.กาญจนบุรี โดยวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเสียงที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าพ.ร.บ.ได้กำหนดให้อธิการบดีจะต้องพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมีอายุ 60 ปี ขณะเดียวกันคำสั่งศาลจะมีผลผูกพันเฉพาะกรณีเท่านั้น และนายสุภัทร เตรียมเสนอ 4 แนวทางให้นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พิจารณาเลือกเพื่อแก้ไขปัญหา ขณะที่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) จี้ให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งนั้น

เมื่อวันที่ 18 กันยายน นายช่วงโชติ พันธุเวช นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ยะลา กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าอายุไม่ใช้ปัญหาในการบริหารงาน แต่ปัญหาอยู่ที่คนในมหาวิทยาลัยและช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้กลุ่มที่คัดค้านเรื่องนี้นำมาเป็นประเด็นต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมระหว่างสกอ.และนายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แก้ไข คำสั่งคสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นก็ต้องแก้ให้ชัดว่า ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้หรือไม่ได้ เพราะการจะให้แต่ละแห่งไปแก้พ.ร.บ.ของตนเอง หรือ สกอ.ขอแก้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ.2547 ก็คงไม่ทัน

“การแก้ปัญหาเรื่องนี้เร็วที่สุดคือ แก้ไขคำสั่งคสช. เพราะคำสั่งมีช่องโหว่ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับอายุผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่ชัดเจน ส่วนอายุ 60 ปีแล้ว เป็นอธิการบดีได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช. แนวทางนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เร็วที่สุด เพราะสภาฯ เองจะขยับไปทางไหนก็โดนฟ้องหมดทุกทาง และนายกสภาฯ ที่เคยเป็นอัยการ ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว มีผลเฉพาะมรภ.กาญจนบุรี หากไปยึดตามแล้วบังคับให้อธิการบดี ที่อายุเกิน 60 ปี ลาออก เขาก็มีสิทธิฟ้องสภาฯไ ด้เช่นกัน ทั้งนี้ คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ถือว่าเป็นกฎหมายที่ใหญ่ที่สุด เพราะยังมีมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 ครอบอยู่ หากแก้โดยใช้มาตรา 44 ก็จะไม่เป็นปัญหา ” นายช่วงโชติกล่าว

Advertisement

ด้านนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้มีอำนาจหลักอยู่ที่สภาฯ ไม่ใช่สกอ. สภาฯ ต้องไปหารือและวางแนวทางว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเท่าที่ดูขณะนี้ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่เรียกร้องให้อธิการบดีที่อายุ 60 ปี ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ลาออกจากตำแหน่ง แต่โดยหลักการจะไปบังคับให้เขาลาออก ก็คงไม่ได้ เป็นเรื่องของสปิริต ซึ่งแต่ละแห่งก็ต้องไปคุยกัน ส่วนกลุ่มที่รอเสนอชื่อขึ้นโปรดเกล้าฯ นั้น เป็นที่แน่นอนว่า มีพอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดออกมา ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ก็ไม่สามารถเสนอชื่อได้อยู่แล้ว ดังนั้นฝ่ายกฎหมายของสกอ.ต้องไปดูข้อกฎหมาย ว่าหากเป็นเช่นนี้จะต้องส่งเรื่องกลับให้สภาฯ ทบทวนหรือไม่

“ส่วนตัวผมเห็นว่า การแก้มาตรา 44 คงไม่ใช่ทางออก และผมไม่เห็นด้วย แต่สภาฯ ต้องไปคิดเองว่าจะทำอย่างไร เพราะอำนาจใหญ่อยู่ที่สภาฯ จะบังคับให้สกอ.ออกแนวปฏิบัติให้ชัดเจนก็ไม่ถูกต้อง เพราะแนวปฏิบัติมีอยู่แล้ว กฎหมายมีอยู่แล้ว เชื่อว่าหากสภาฯ ไม่ดำเนินการอะไรและอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี ไม่ยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ สุดท้ายก็จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ทำให้เป็นปัญหาตามมาอีกเช่นเคย” นพ.อุดมกล่าว

ด้านนายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า หลังจากที่นายปัญญา คามีศักดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มร.มจ.) และนายชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งไปแล้วนั้น ล่าสุดนายสุรศักดิ์ ศรีกระจ่าง ผู้ช่วยอธิการบดีมรภ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีได้ยื่นใบลาออกแล้วเช่นกัน เพื่อแสดงสปิริตว่าปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ อายุเกิน 60 ปีไม่ได้

Advertisement

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีของมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง เป็นเพราะรายรับสูงหรือไม่ เพราะจากข้อมูลที่ทราบ เงินเดือนอธิการบดีของผู้ที่อายุเกิน 60 ปี อยู่ที่ 80,000-250,000 บาท/เดือน หรือเฉลี่ยคนละ 120,000 บาท เงินบำนาญ 50,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ยังมีเงินประจำตำแหน่ง 30,000 บาท/เดือน ค่าน้ำมันรถ 30,000 บาท/เดือน เงินโครงการพิเศษต่างๆ ซึ่งมีทั้งจ่ายรายเดือน จ่ายรายโครงการและจ่ายรายเทอมซึ่งแล้วแต่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด และยังมีเงินจากโครงการเบ็ดเสร็จ เช่น โครงการอบรม โดยเฉลี่ยหลักหมื่นบาทต่อโครงการ นอกจากนี้มีเงินเบี้ยประชุมสภามหาวิทยาลัยซึ่งประชุมทุกเดือน อัตราแล้วแต่สภามหาวิทยาลัยกำหนด โดยปกติอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท/ครั้ง รวมๆ แล้วคิดว่าอธิการบดีรายที่รับสูงที่สุดอยู่ที่ 500,000 บาท/เดือน ทั้งนี้เป็นเงินที่ไม่ต้องเสียภาษีด้วยเพราะเป็นเงินนอกงบประมาณแผ่นดิน เช่น เงินรายได้ ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ยื่นแสดงรายรับกัน

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนรองอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี ปัจจุบันรับเงินเดือนอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท/เดือน หรือเฉลี่ยคนละ 55,000 บาท คณบดี/ผอ.สำนักที่มีฐานเทียบเท่าคณะ จำนวน 35,000-80,000 บาท/เดือน หรือเฉลี่ยคนละ 47,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินบำนาญของแต่ละคนซึ่งได้รับประมาณคนละ 50,000 บาท/เดือน

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่อธิการบดีที่เป็นข้าราชการหรืออายุต่ำกว่า 60 ปี จะมีเงินเดือนประมาณ 30,000-60,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเดือนปัจจุบันที่ได้รับ นอกจากนี้มีเงินประจำตำแหน่ง เงินตำแหน่งทางวิชาการ  และกรณีที่อธิการบดีเลือกรับเงินตำแหน่งทางวิชาการด้วย ก็ต้องสอนหนังสือด้วย นอกจากนี้อธิการบดีที่เป็นข้าราชการจะได้รับค่าน้ำมัน 30,000 บาท/เดือน เงินเบี้ยประชุม เงินโครงการพิเศษซึ่งอัตราขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยกำหนด

นายรัฐกรณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ที่ปรึกษาอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก ที่อายุเกิน 60 ปีเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) จำนวน 48 แห่ง มีทั้งหมด 64 คน แยกเป็นตำแหน่งรองอธิการบดี 26 คน ผู้ช่วยอธิการบดี 3 คน ที่ปรึกษาอธิการบดี 1 คน คณบดี 18 คน และผอ.สำนัก 16 คน ซึ่งโดยหลักการ กฎหมายกำหนดคุณสมบัติเหมือนกับอธิการบดีคืออายุเกิน 60 ปีไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image