ทำไม?? ใครๆ ก็อยากเป็น ‘อธิการบดี’ (ตำแหน่งชั่วคราว แต่นั่งยาวชั่วโคตร)!!

เกิดแรงกระเพื่อมในแวดวงมหาวิทยาลัย ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ “เพิกถอน” มติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่แต่งตั้ง “นายปัญญา การพานิช” รักษาการแทนอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี

โดยวินิจฉัยว่า การแต่งตั้งรักษาการแทนอธิการ มรภ.กาญจนบุรี เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย!!

เนื่องจาก “อธิการบดี” เป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ตามมาตรา 18 (ข) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พ.ศ.2547 และมาตรา 55 (2) ที่ระบุว่าข้าราชการ ก.พ.อ.พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องอายุ ว่าข้าราชการซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากราชการ

ฉะนั้น แม้มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.มรภ.พ.ศ.2547 จะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่อง “อายุ” ของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการอธิการบดี หรือดำรงตำแหน่งอธิการบดีไว้ แต่ถือว่าคุณสมบัติในเรื่องอายุ ต้องนำมาใช้กับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดี ทั้งที่มาจากผู้ที่เป็นข้าราชการ ก.พ.อ.หรือไม่เป็นข้าราชการ ก.พ.อ.ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ด้วยเช่นกัน

Advertisement

ซึ่งประเด็น “ขัดแย้ง” เกี่ยวกับอายุของผู้ที่จะนั่งเก้าอี้อธิการบดี เกิดมายาวนาน

โดยก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ “มาตรา 44” ออกมาคำสั่งที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา

ดูเหมือนคำสั่งดังกล่าว ถูกวิจารณ์ว่า “เอื้อ” ให้พรรคพวกของตัวเองที่เป็นคนนอก และมีอายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้

Advertisement

เนื่องจากในข้อ 2 ระบุว่า “กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้งบุคคลใดที่มิใช่ข้าราชการ ก.พ.อ.หรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาเป็นอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หัวหน้าหน่วยงานอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้…”

แต่เพราะคำสั่งดังกล่าว ถูกออกอย่าง “เร่งรีบ” ทำให้เกิด “ช่องโหว่” และกลายเป็น “เงื่อน” ที่กลับมาผูกมัดบรรดาอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีเสียเอง

จนเป็นที่มาของคำสั่งศาลปกครองสูงสุด “กลับคำ” พิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้

เพราะในข้อ 2 ของคำสั่ง คสช.อีกเช่นกัน ที่เขียนในตอนท้ายว่า “…แต่คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ ก.พ.อ.และกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ”

ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นเพียงการ “รองรับ” ให้ “คนนอก” นั่งในตำแหน่งบริหารต่างๆ ได้ แต่ “ไม่ได้” ยกเว้นคุณสมบัติต้องห้าม ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายของ ก.พ.อ.

โดยหนึ่งในคุณสมบัติต้องห้าม คือห้ามผู้มีอายุเกิน 60 ปี ดำรงตำแหน่งบริหาร!!

แม้ศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยกรณีของ มรภ.กาญจนบุรี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เรียกประชุม “นายกสภา” เพื่อให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด

แต่การประชุมดังกล่าวแทบจะไม่มีอะไรคืบหน้า แค่สรุปแนวทางกว้างๆ 4 ข้อ เสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพราะนายกสภา และอุปนายกสภา ส่วนใหญ่ที่มาร่วมประชุม เห็นว่ากรณี มรภ.กาญจนบุรี เป็นคำตัดสิน “เฉพาะตัว” เท่านั้น

ขณะที่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เดินหน้าเคลื่อนไหวจี้ให้อธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปี แสดง “สปิริต” โดยการลาออกเอง แต่แนวโน้มไม่น่าจะเป็นอย่างที่คาดหวัง

ซึ่งขณะนี้มีอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี ที่นั่งบริหารงานอยู่ใน มรภ.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รวม 23 ราย โดยผู้ที่มีอายุมากที่สุด 76 ปี คือ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี

ล่าสุด มีอธิการบดีที่แสดงสปิริตประกาศ “ลาออก” แล้ว อย่างรักษาการอธิการบดี มรภ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไม?? ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยยุคนี้ ไม่เฉพาะ มรภ.และ มทร.แต่รวมถึง มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ (ในกลุ่มนี้เขียนกฎหมายเปิดช่องให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้อยู่แล้ว)

จึงเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณจำนวนมาก บางรายอายุเกือบ 80 ปี ทั้งที่อยู่ในวัยที่ควรพักผ่อนหลังตรากตรำกับงานหนักมาตลอดชีวิต ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว เลี้ยงหลาน หรือทำกิจกรรมชิลๆ กับเพื่อนฝูง ฯลฯ

ทำไม?? ยัง “กระเสือกกระสน” เพื่อให้ได้เป็นอธิการบดีต่อ…

เพราะต้องการสานต่องานที่คั่งค้าง เพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้น..อย่างนั้นหรือ??

หรือต้องการพัฒนาให้เด็กไทยมีคุณภาพมากขึ้น..อย่างนั้นหรือ??

แล้วก่อนหน้านั้น ที่นั่งๆ บริหารกันมา 2 วาระ เกือบ 10 ปี หรือมากกว่านั้น ทำอะไรกันอยู่??

ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ก็น่าจะเป็นเรื่อง “รายได้” ที่เป็นกอบเป็นกำ เพราะมีเงินเดือน บวกกับรายได้อื่นๆ เดือนละประมาณ 2.5 แสนบาท

แต่ก็มีบางแห่งที่กำหนดเงินเดือนอธิการบดีไว้สูงถึง 2.5 แสนบาท เมื่อรวมกับรายได้จากส่วนอื่นๆ จะตกประมาณ 5 แสนบาทต่อเดือน

จึงทำให้คนเหล่านี้ ไม่อยากทิ้ง “ขุมทรัพย์” ให้หลุดมือ..ใช่หรือไม่??

ไม่เช่นนั้น “อธิการบดี” ซึ่งเป็นตำแหน่ง “ชั่วคราว” และมี “วาระ” แต่ทำไมคนส่วนหนึ่ง ถึงพยายามหาช่องทางเพื่อให้นั่งอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนาน (ชั่วโคตร)…

ขณะที่ “สภามหาวิทยาลัย” ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์มาโดยตลอดว่ามีหน้าที่ “อุ้ม” อธิการบดี พยายามจะ “อ้าง” กฎหมายข้อนั้นข้อนี้ ว่าสภาอาจถูก “ฟ้องร้อง” ได้

หรือมีความพยายามให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 อีกครั้ง เพื่อออกมา “ปิด” ช่องโหว่ของคำสั่งที่เคยออกมาก่อนหน้านี้

เหล่านี้้ ล้วนแล้วแต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ “พวกพ้อง” ใช่หรือไม่??

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าผู้เกษียณ “ไร้ฝีมือ” แต่มีมากพอที่จะนั่งบริหารงานต่อไปจนอายุ 80-90 ปี จริงหรือ??

ถึงเวลาที่จะเปิดโอกาสให้ “คนรุ่นใหม่” ได้ใช้ “ศักยภาพ” และ “มุมมอง” ใหม่ๆ เข้ามาบริหาร..บ้างหรือยัง??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image