มมร กาฬสินธุ์ร่วมกับคณะสงฆ์กาฬสินธุ์ จัดอบรมส่งเสริมศีลธรรม-ธรรมาภิบาลในองค์กร

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ห้องประชุมวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) กาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูสุธีวรสาร ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มมร กาฬสินธุ์ เป็นประธานโครงการส่งเสริมศีลธรรมและธรรมาภิบาลในองค์กร โดยมีพระครูสุธีจริยวัฒน์ รองอธิการบดี มมร วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น พระมหาสุภชัย สุภกิจโจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศาสตร์ มมร วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น พระครูปลัดสมัย ผาสุโก ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ วิทยาลัยศาสนศาสตร์ มมร วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น เป็นวิทยากร และมีคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) จำนวน 300 รูป ร่วมโครงการ

พระครูสุธีวรสาร กล่าวว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย โดยมีวัด หรือศาสนสถาน เป็นศูนย์รวมในการประกอบศาสนกิจ เป็นศูนย์กลางในการจัดงานประเพณี วัดจึงเป็นทั้งศูนย์รวมใจ และการประกอบกิจกรรม รวมทั้ง เป็นสถานที่กล่อมเกลาจิตใจ บ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม และถ่ายทอดวิชาการต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ วัดจึงได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรก โดยมีพระเป็นครูคนแรกเช่นกัน

“จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ประชากรเพิ่มมากขึ้น เกิดการขยายตัวของเมือง มีสถาบันการศึกษาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียน ที่ต้องการศึกษาหาความรู้ตามที่ตนถนัด ขณะเดียวกันวัดซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรก ก็ได้พัฒนา และยกระดับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ เช่น เปิดเรียนพระพุทธศาสนาวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดโรงเรียนปริยัติธรรม หรือให้มีการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมต้น ระดับมัธยมปลาย จนถึงระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี โท และเอก เป็นต้น” พระครูสุธีวรสาร กล่าว

พระครูสุธีวรสารกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดการศึกษา พบว่ามีการสอน การเรียน รวมทั้ง พระภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษาทั่วไป ขณะที่บทบาทของพระก็ไม่ได้ลดน้อยลง ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของพระพุทธศาสนา ในฐานะพุทธทายาท เป็นผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนา เป็นสื่อกลางในการเชื่อมประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนเป็นอาจารย์ เป็นพระวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ประชาชน ผู้เรียน นักเรียน นักศึกษาอีกด้วย

Advertisement

“พระสงฆ์ นอกจากจะทำหน้าที่ในการขัดเกลากิเลสตนเอง ศึกษาไตรสิกขาให้ถ่องแท้แล้ว ยังต้องทำหน้าที่เพื่อชุมชน และสังคมอีกด้วย เพราะพระสงฆ์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนทั้งด้านความเป็นอยู่ และความช่วยเหลือร่วมมือต่างๆ ที่เชื่อมโยงระหว่าง วัด บ้าน โรงเรียน ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าพระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสังฆาธิการ หรือพระภิกษุผู้มีตำแหน่งในการปกครอง เป็นผู้มีจริยวัตรงดงาม มีทักษะและวิธีการ ในการบริหารจัดการวัดที่มีประสิทธิภาพ ย่อมนำชุมชนไปสู่ความปรองดองและเกิดสันติสุขในสังคม” พระครูสุธีวรสาร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image