มข. รวมนวัตกรรมด้านสุขภาพระดับโลก พร้อมรับมือสังคมสูงวัย

 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เปิดเผยว่าสำนักหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ และฝ่ายการต่างประเทศ มข. ร่วมมือกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุ (KKU Datathon:Health Tech forAging) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในพื้นที่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้รับบริการทางการแพทย์ที่เป็นผู้สูงวัย ทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ (startup) ในด้านการแพทย์โดยเฉพาะเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ

 รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว สาเหตุมาจากการอัตราการเกิดลดลง และคนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น โดยที่สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.8 ของจำนวนประชากรทั้งหมด การป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญและลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  ควรได้รับการบริการที่ปลอดภัยสะดวก รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

 “ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ทั่วโลกนั้น ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการเติบโตที่ก้าวเร็วที่สุด ซึ่งส่งผลให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ สำหรับระบบการดูแลสุขภาพ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ จะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มคุณภาพและการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุในประเทศไทย การได้มีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่มีวิทยากร ซึ่งเป็นผู้เชี่่ยวชาญระดับโลกในด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ ถือเป็นโอกาสพิเศษสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสังคมโดยรวม”รศ.นพ.ชาญชัย

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล

Advertisement

รศ.ทพญ.ดร.นวรัตน์ วราอัศวปติเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มข. กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 55 ปีที่ มข.อุทิศให้กับการให้ความรู้วิชาการแก่นักศึกษาให้เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลง ทุกส่วนของสังคมที่พวกเขาให้บริการ ทางคณะแพทยศาสตร์มุ่งมั่นที่จะอยู่ในระดับแนวหน้าในการดูแลผู้ป่วย การนำ “Data Analytic” ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ข้อมูลเทคโนโลยีด้านสารสนเทศมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยในการบริหารดูแลด้านสุขภาพ (Health Care) สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ชาญฉลาด ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแก่ประชากรในประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายด้านดูแลสุขภาพเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันคือ “การดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ”    

 รศ.ทพญ.ดร.นวรัตน์ วราอัศวปติเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image