สกศ.จัดพิธีเชิดชูเกียรติ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 9 จับมือ กศน. ส่งต่อภูมิปัญญา รับนโยบายเรียนรู้ตลอดชีวิต

วันที่ 25 กันยายน 2561 ที่โรงแรมเบสต์เวสเทิร์นพลัสแวนดา แกรนด์ จ.นนทบุรี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติและเกียรติบัตรแก่ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 9 จำนวน 12 คน และมอบโล่ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต จำนวน 3 ชุมชน โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ครูภูมิปัญญาไทยกับการอนุรักษ์ สืบสาน” เพื่อยกย่องครูภูมิปัญญาไทยทุกท่านที่มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย 9 ด้าน กลับคืนสู่การจัดการศึกษาของชาติ

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานในพิธียกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 9 และชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ว่า สกศ. ได้ดำเนินการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ในการนำภูมิปัญญาไทยกลับคืนสู่การจัดการศึกษาของชาติ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งได้เห็นชอบต่อนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา โดยครั้งนี้จึงถือเป็นการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ครูภูมิปัญญาไทยได้รู้จัก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดแนวทางการนำภูมิปัญญาของครูภูมิปัญญาไทยเข้าสู่กระบวนการการจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยผ่านการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล

Advertisement

รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สกศ.ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยไปแล้วจำนวน 8 รุ่น มีครูภูมิปัญญาไทยจำนวนทั้งสิ้น 491 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ หลายท่านได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย โดยมีเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งประเภทบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งนับเป็นกลไกของการรักษาและสืบทอดภูมิปัญญาของไทยไว้ 9 ด้าน เพื่อการศึกษาและการพัฒนาชุมชน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและหัตถกรรม การแพทย์แผนไทย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนาและประเพณี และโภชนาการ โดยใช้ภูมิปัญญาแต่ละด้านสะท้อนให้เห็นภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญาของแต่ละท่าน อันเป็นรากฐานสำคัญของการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบภูมิปัญญาไทย ซึ่งมีการปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย และเหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในปี 2561 สกศ.ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในความร่วมมือในการสร้างสรรค์ เสริมสร้างความรู้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาไทยให้ตกทอดมากยิ่งขึ้นอันถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน ในปีนี้จึงได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย โดยพบว่ามีชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญความจำเป็นของการเรียนรู้ มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน จึงยกย่องให้เป็นชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต จำนวน 3 ชุมชน โดยเป็นชุมชนภาคเหนือ 1 ชุมชน ภาคกลาง 1 ชุมชน และภาคใต้ 1 ชุมชน

Advertisement

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ภูมิปัญญา คือ ความรู้ ความสามารถ ศักยภาพในการแก้ปัญหาของมนุษย์ และการเชื่อมโยงในทุกระบบทุกสาขา ภูมิปัญญาเป็นความรู้ ความคิด ความเชื่อ ที่เป็นผลมาจากการใช้สติปัญญาปรับตัวให้เข้ากับสภาพต่างๆ ที่กลุ่มชนนั้นๆ ตั้งหลักแหล่งอยู่ การดำเนินการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ทำอยู่ขณะนี้ เท่ากับเป็นการส่งเสริมครูภูมิปัญญาไทยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครู อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องภูมิปัญญาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ อัตลักษณ์ที่ชนทุกชาติต้องมีรักษาไว้ให้ได้

ม.ล.ปนัดดา กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าความดีงามของคนจะสถิตเสถียร เราจะต้องเชื่อมั่นในข้อนี้ ต้องบอกกล่าวต่อลูกหลานถึงสิ่งที่พ่อแม่ดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้หาใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เราหวังที่จะให้รุ่นลูกได้เรียนรู้ และเดินทางตามรอยเท้าของพ่อแม่เพื่อรักษาคุณความดีไว้ให้ได้ เพื่อรักษาบ้านเมืองไทยจะได้เป็นบ้านเมืองไทยที่ดีมีความสง่างาม ทำหน้าที่ของเราให้ดีในบทบาทของเรา เราในฐานะครูอาจารย์ก็เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ให้เป็นคนดี เราต้องช่วยกันดำรงรักษา อยากให้เผยแพร่ในฐานะครูภูมิปัญญา ต้องช่วยกันปรับทัศนคติของผู้คนในเชิงเอกลักษณ์ของชาติ ความภาคภูมิใจในภาษาไทย ศิลปวัฒนธรรมของชาติ นวัตกรรม ที่คนในชาติต้องช่วยกันรักษาไว้ ไม่ให้เลือนลางจางหายไปตามวันเวลา

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกู รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งขอให้ลูกหลานเยาวชน คุณครูอาจารย์ พี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

โดยส่วนตัวผมยังมีโอกาสได้พบปะกับลูกหลายเยาวชน ได้เยี่ยมสถานศึกษา สถานพินิจ ในบทบาทการทำงานของกระทรวงยุติธรรม จากการพูดคุยสอบถามเด็กๆ เขาเห็นด้วยเรื่องการอยากได้รับการเป็นแบบอย่างจากผู้ใหญ่ ที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ยั่งยืนหรือว่า โรลโมเดล เพราะฉะนั้นแบบอย่างสำคัญ ผมคิดว่าครูอาจารย์ พ่อแม่ หรือผู้หลักผู้ใหญ่นั้นสำคัญที่จะดำรงตนเรื่องนี้ให้เป็นตัวอย่างสำหรับลูกหลานเยาวชน ค้นหาต้นแบบที่เราจะจดจำไปนานแสนนาน หรืออยู่กับเราตลอดไป เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่เป็นต้นแบบให้กับคนไทยทั้งชาติ เพราะความเป็นไทยเป็นความภาคภูมิใจของเรา ลูกหลานอีกหน่อยจะได้ช่วยกันสืบสาน ไว้เป็นมรดกแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจ มีหลายสิ่งที่เราพูดได้ในภูมิปัญญาไทยในหลายจังหวัดก็จะมีลักษณะที่โดดเด่น และกล่าวขานถึงแม้กระทั่งชาวต่างประเทศ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image