“กอปศ.-สกศ.” เดินหน้า “กางแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา” เบนเข็มทิศสู่เป้าหมายความก้าวหน้า

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นำโดย “ศ.กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา” ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เดินหน้าจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาโดยคณะกรรมการฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาและประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่ดีมาประกอบการจัดทำแผนปฏิรูป ขณะเดียวกันให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เพื่อให้แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาครบถ้วน มุ่งสู่การปฏิบัติและบรรลุเป้าหมาย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดประชุมสัมมนา ภายใต้เรื่อง “กางแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พลิกโฉมหน้า…ประเทศไทย” โดยมี ศ.กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา รวมถึงภาคประชาชน รวมกว่า200 คน เข้าร่วมประชุมและเสนอข้อคิดเห็น ณ ห้องแกรนด์ ฮอล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้น เพื่อสนับสนุนการบรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ด้านความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคม ด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้

“ศ.กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา” ได้ปาถกฐาตอนหนึ่งใจความว่า ในรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านประชามติบอกว่าประเทศไทยมีปัญหาอยู่หลายอย่างและจำเป็นต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษา กอปศ. กำลังรับใช้สังคมในการทำเรื่องนี้ และได้รับฟังความคิดเห็น ทำการศึกษาจากมุมต่างๆ จากที่มีการศึกษาและพิจารณา ใน 16 เดือนที่ผ่านมา เห็นสมควรรายงานให้สังคมโดยรวมได้ทราบและร่วมกันทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยจากสภาพปัจจุบันที่พบชัดเจนคือ วิกฤตการศึกษาไทย ซึ่งมี4ด้าน ได้แก่ 1.คุณภาพการศึกษาต่ำ ไม่ได้มาตรฐานสากล วัดผลจากการสอบ O-NET และ PISA 2.มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเพียง1%ของประชากร สามารถจะมีการศึกษาที่ดี เหตุและผลที่เกิดขึ้นเกิดจากการติดกับดักความยากจน 3.ความไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ และ4.ประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลของระบบ โดยประเทศไทยใช้งบประมาน 20% (ด้านการศึกษา) แต่ผลการศึกษายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เหล่านี้เป็นปัญหาที่พบ และยิ่งไปกว่านั้นคือการที่ยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา

“วาดภาพไปข้างหน้าอีก5-10ปี ถ้าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ไม่สำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถือเป็นบทบาทของทุกคนที่อยู่ในสังคมไทย โดยขณะนี้รัฐธรรมนูญเห็นชัดว่าจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา หลายแห่งตั้งความหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ต้องสำเร็จให้ได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยมาถึงจุดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือเรื่องของศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันเนื้อหาสาระของวิชาทั้งหลายมีอยู่มากมาย ใครๆก็หาความรู้จากอินเตอร์เน็ตได้ แต่ขณะนี้การศึกษาต้องไม่ใช่การสะสมความรู้ ต้องกลายเป็นการสร้างสมรรถนะให้คนสามารถเข้าถึงความรู้ เอาความรู้มาใช้ประโยชน์ให้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เป็นไปได้คือ ปรับจากการเน้นเนื้อหาสาระ ไปสู่การเน้นความสามารถของคนทุกคน และเป็นการศึกษาของคนตลอดชีวิต วันนี้ทุกคนอยู่ในขอบข่ายที่ต้องได้รับการศึกษา เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม

Advertisement

“อีกเรื่องคือการปฏิวัติดิจิทัล เพราะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้สามารถข้ามระยะทางและเวลาได้ เอาความรู้ วิธีการเรียนรู้ ไปสู่เด็กในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เด็กเหล่านี้ถ้าเข้าถึงองค์ความรู้ได้ ก็สามารถที่จะแข่งขันได้ นี่คือคำตอบของการปฏิรูปการศึกษา”

ขณะที่เรื่อง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ กฎหมายลูก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพ.ศ. 2561 (บังคับใช้แล้ว) พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ร.ฎจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ ขณะนี้ได้เสนอไปยังรัฐบาลแล้วอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหวังให้เป็นเครื่องมือในการที่จะผลักดันแผนปฏิรูปการศึกษาและนำไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป

“อีก10ปีข้างหน้า ตั้งความหวังว่าเราจะแก้ปัญหา4ด้านได้ คุณภาพการศึกษาของไทยต้องได้มาตรฐานสากล ต้องไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำแต่เป็นความแตกต่างที่คนทุกคนสามารถจะเป็นเลิศทางความถนัดได้ และความแตกต่างนี้จะเป็นพลังของประเทศ ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องเป็นศูนย์กลางในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่เป็นระบบบริหาร โดยต้องเป็นทักษะของคนยุคใหม่ให้ได้”

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาทั้ง 4 ด้าน ได้ถูกนำมาขยายอย่างเป็นระบบในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวม 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา 2.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3.สร้างโอกาสทางการศึกษา 4.มุ่งความเป็นเลิศ 5.สร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ 6.ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และ7.ใช้สื่อสาระสนเทศดิจิทัลเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ทั้งนี้โจทย์ใหญ่ที่มายืนรออยู่เบื้องหน้าของทุกคนอย่างมิอาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้นั่นคือ “ระบบดิจิทัล”

โดย ประธาน กอปศ. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่จะประกาศใช้ต่อไปถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการจัดระเบียบ เพื่อใช้ระบบดิจิทัลให้เป็นประโยชน์และเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น “ระบบดิจิทัล” จะต้องแทรกเข้าอยู่ในทุกเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาและด้านอื่นๆ เพื่อนอกจากจะใช้เพื่อการศึกษาในโรงเรียน เพื่อการพัฒนาครูอาจารย์แล้ว ยังต้องเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบจะเกิดขึ้น มีรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลัก มีกฎหมายลำดับรอง พระราชกฤษฎีกา เป็นเครื่องมือเสริม มีแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเป็นเข็มทิศ ลายแทงบอกทิศทางการก้าวเดินไปข้างหน้า จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ประดุจคานงัดประเทศให้ก้าวพ้นจากวิกฤตต่างๆ ความสำเร็จไม่อาจเกิดได้ด้วยการดำเนินการตามลำพังของใครบางคนหรือบางฝ่าย หากทว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจกันให้เกิดเป็นพลังเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ยุคใหม่ที่เจริญก้าวหน้าและทันสมัย โอกาสทางการศึกษาจะต้องบังเกิดขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณภาพของคนไทยจะต้องได้รับการยกระดับ สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยพลิกโฉมหน้าประเทศไทย พัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image